รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
เมื่อลูกน้อยเกิดมา อาหารที่สำคัญที่สุดก็คือ “น้ำนมจากมารดา” ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารครบถ้วน ทารกที่ได้รับน้ำนมจากมารดาจะมีร่างกายแข็งแรงและยังมีภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ และในการที่จะดูดนมมารดาได้เป็นอย่างดีนั้นจะต้องอาศัย “ลิ้น” ช่วยในการดูดด้วย แต่ปัญหามีอยู่ว่ายังมีทารกจำนวนหนึ่งที่พังผืดใต้ลิ้นผิดปกติจนเกิดอุปสรรคในการดูดนม
พังผืดใต้ลิ้น คือ เยื่อบาง ๆ บริเวณโคนลิ้นที่เกิดขึ้นในทารกทุกคนซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ทารกบางรายอาจมีพังผืดติดมากกว่าปกติมาถึงบริเวณปลายลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการขยับปลายลิ้น หรือการเคลื่อนไหวของลิ้นไม่ดีเท่าที่ควร
ปกติแล้วลิ้นมีหน้าที่ที่สำคัญอยู่หลายประการ แต่สำหรับทารกแรกเกิดนั้น ลิ้นมีหน้าที่ในการช่วยดูดนมจากเต้านมของมารดา โดยทารกจะแลบลิ้นไปที่ลานหัวนมและรีดน้ำนมเข้าช่องปาก ถ้าในกรณีทารกมีพังผืดติดใต้ลิ้นมากเกินไป ก็จะทำให้ปลายลิ้นขยับออกมาเลียลานหัวนมไม่ได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาเมื่อต้องดูดนมมารดา บางรายจะใช้เหงือกในการช่วยดูดนม ซึ่งจะทำให้มารดาเกิดความเจ็บปวดหัวนมแตกและเป็นอุปสรรคต่อการให้นมบุตรต่อไป
อาการแสดง
• ลูกจะงับหัวนมไม่ค่อยติดเมื่อดูดนม ดูดเบา ดูดบ่อย
• น้ำหนักตัวลูกไม่เพิ่มขึ้นตามกำหนด มีอาการตัวเหลือง
• ลูกแลบลิ้นได้ไม่พ้นริมฝีปาก หรือเหงือกบน ไม่สามารถกระดกปลายลิ้นขึ้นไปสัมผัสเพดานปากได้
• ปลายลิ้นอาจเป็นหยักเข้ามาเป็นรูปหัวใจ
• สำหรับมารดาก็จะมีอาการเจ็บขณะที่ทารกดูดนม อาจมีหัวนมแตกเป็นแผลและส่งผลแทรกซ้อนถึงเต้านมอักเสบได้
ข้อบ่งชี้ว่าเด็กควรได้รับการรักษา
• น้ำหนักตัวลูกไม่ขึ้น หรือขึ้นช้า
• ลูกไม่สามารถดูดหรืองับหัวนมได้ หรืองับแล้วหลุด
• มารดาเจ็บหัวนมหรือหัวนมเป็นแผลแตก
จำเป็นต้องรักษาหรือไม่
ในอดีตเราไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดามากนัก ในกรณีที่เด็กทารกไม่สามารถดูดนมมารดาได้ก็จะแก้ไขด้วยการเลี้ยงด้วยนมขวด ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงทารกด้วยนมมารดามากขึ้นเนื่องจากพิสูจน์ได้แล้วถึงคุณค่าที่ดีกว่า จึงทำให้มารดาส่วนใหญ่ต้องการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
การเลี้ยงทารกด้วยนมมารดา
การรักษา
การรักษาภาวะพังผืดใต้ลิ้นใช้การผ่าตัด โดยในทารกต่ำกว่า 4 เดือนหรือฟันยังไม่ขึ้นนั้นสามารถใช้ยาชาเฉพาะที่ได้ ทารกไม่จำเป็นต้องงดนมก่อนผ่าตัด ใช้เวลาในการผ่าตัด 5-10 นาที หลังผ่าตัดสามารถดูดนมแม่ได้ทันที และสามารถกลับบ้านได้ แผลหลังผ่าตัดไม่จำเป็นต้องดูแลรักษาโดยเฉพาะอีก แผลสามารถหายเองได้ใน 1-2 สัปดาห์ และพบภาวะติดเชื้อที่แผลน้อยมาก
ปัญหาอื่นของภาวะลิ้นติดนอกจากการดูดนมมารดา
เนื่องจากลิ้นเป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่งในการพูด โดยเฉพาะปลายลิ้นที่ต้องช่วยในขณะออกเสียงควบกล้ำ ดังนั้นในเด็กโตที่มีพังผืดยึดมาถึงบริเวณปลายลิ้นอาจพูดไม่ชัด พูดช้าและมีปมด้อยได้แต่เนื่องจากพังผืดเกิดในทารกแรกเกิดมีแนวโน้มที่จะยืดออกเองได้จึงยังไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจนในการรักษาขณะที่เป็นทารกแรกเกิด หากยังไม่มีปัญหาเรื่องการดูดนมมารดา แพทย์ก็จะทำการนัดมาตรวจเป็นระยะ ๆ หากพังผืดยืดออกได้เองก็ไม่ต้องทำการรักษา หากไม่ยืดออกก็จะพิจารณารักษาต่อไป
ข้อมูลจาก แพทย์หญิงอุรารมย์ พันธุมะผล กุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด โรงพยาบาลพญาไท 1
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์