เด็กฟันผุกับนมฟลูออไรด์

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
    กรมอนามัยได้สำรวจสภาวะทันตสุขภาพของเด็กไทยทุก 5 ปี พบว่า เด็ก 3 ขวบมีปัญหาฟันผุ 52% เฉลี่ย 2-4 ซี่ต่อคน
    กรมอนามัยได้ดำเนินงานโครงการนม ฟลูออไรด์มาตั้งแต่ปี 2543 ด้วยการเติมฟลูออไรด์ลงไปในนมโรงเรียน เพื่อป้องกันฟันผุอีกทางหนึ่ง หลังจากพบว่าเด็กไทยมีปัญหาฟันผุจำนวนมาก
    ทันตแพทย์ สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า กรมอนามัยได้สำรวจสภาวะทันตสุขภาพของเด็กไทยทุก 5 ปี พบว่า เด็ก 3 ขวบมีปัญหาฟันผุ 52% เฉลี่ย 2-4 ซี่ต่อคน ส่วนเด็กชั้นประถมศึกษาสำรวจในเด็ก ป.6 อายุ 12 ขวบ พบว่า มีปัญหาฟันผุในฟันแท้ 52% เช่นกัน หรือเฉลี่ยฟันผุ 1.3 ซี่ต่อคน
สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไทยฟันผุ คือ
1. การไม่แปรงฟัน โดยเฉพาะการไม่แปรงฟันก่อนนอน พบว่ามีเด็กแปรงฟันก่อนนอนเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น จึงต้องเน้นย้ำผู้ปกครองกำชับเด็กแปรงฟันก่อนนอนทุกครั้ง ตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้ามีเศษอาหารและเชื้อโรคเยอะ จะทำให้ช่องปากเป็นกรด ฟันผุมากขึ้น
2. การกินหวาน คนไทยกินน้ำตาลมากถึง 30 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือกินน้ำตาลเฉลี่ยคนละ 30 ช้อนชาต่อวัน ในขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เติมน้ำตาลได้ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
        โครงการนมฟลูออไรด์ระยะแรกดำเนินการตั้งแต่ ปี 2543–2548 เริ่มในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยให้เด็กนักเรียนจำนวน 35,000 คน ดื่มนมฟลูออไรด์พาสเจอไรซ์ที่มีขนาด 200 มิลลิลิตรต่อถุง และมีปริมาณฟลูออไรด์ 0.5 มิลลิกรัมต่อถุง ซึ่งเป็นขนาดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ จากผลการประเมินผลพบว่าเด็กที่ดื่มนมฟลูออไรด์ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี จะช่วยลดโรคฟันผุในฟันแท้ได้มากกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมฟลูออไรด์ถึง 34.4% นอกจากนี้ได้มีการศึกษาปริมาณฟลูออไรด์โดยรวมที่ได้รับในแต่ละวันของเด็กที่ดื่มนมฟลูออไรด์ยังพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ปลอดภัย และไม่พบผลกระทบเรื่องฟันตกกระ ซึ่งเด็กที่ได้ดื่มนมฟลูออไรด์ยังคงต้องแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตามปกติ
       ปัจจุบันได้ดำเนินโครงการ นมฟลูออไรด์ในพื้นที่มีเด็กฟันผุสูงกว่า 1 ล้านคน ใน 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชุมพร ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี สระแก้ว ชลบุรี กระบี่ และพัทลุง นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดที่อยู่ระหว่างการเตรียมดำเนินการ 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยเฉพาะ 3 จังหวัดภาคใต้นั้นพบว่า เด็กอายุ 12 ขวบ มีปัญหาฟันผุมากถึง 75-80% เฉลี่ย 2-5 ซี่ เนื่องจากเด็กกินหวานมาก ขาดความรู้ในการดูแลช่องปาก ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในช่องปาก บางครั้งพบว่ามีฟันผุและบวม เนื่องจากเกิดเป็นฝีหนอง ซึ่งกรมอนามัยไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประชุมร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทันตแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง โดยมีมาตรการต่าง ๆ เข้าไปเสริมมากขึ้น เพราะการใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างเดียวไม่เพียงพอ ดังนั้นนมฟลูออไรด์ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยป้องกันฟันผุ
      ทั้งนี้ประเทศไทยมีความหลากหลายของฟลูออไรด์ในน้ำใต้ดินตั้งแต่ 1-10 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) ถ้ามีเกิน 4 พีพีเอ็มจะทำให้เกิดฟันตกกระได้ ดังนั้นโครงการนม ฟลูออไรด์จะเข้าไป ต้องเป็นพื้นที่ไม่มีฟลูออไรด์สูง เกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่ คือ เป็นพื้นที่ที่เด็กมีฟันผุสูงกว่า 1 ล้านคน มีฟันผุสูงตั้งแต่ 2.5 ซี่ขึ้นไป มีฟลูออไรด์ในน้ำต่ำกว่า 0.3 พีพีเอ็ม มีโรงนมที่สามารถผลิต นมฟลูออไรด์และสามารถส่งให้โรงเรียนภายใน 1 วัน รวมทั้งมีทันตบุคลากรในอำเภอและจังหวัด สามารถดูแลสุขภาพช่องปาก มีการตรวจกำกับติดตามไม่ให้เกิดพิษจากฟลูออไรด์
       อย่างไรก็ตาม ปัญหาฟันผุอาจนำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะฟันผุมาก ทะลุโพรงประสาทฟัน ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีเส้นเลือดอยู่ เชื้อโรคจากช่องปากและฟันอาจจะวิ่งไปตามกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการอักเสบของผนังหลอดเลือด ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้น ทำให้เกิดการตีบ เมื่อมีการอักเสบต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้นเมื่อตรวจเลือดพบสาร ซี-รีแอคทีฟโปรตีน  อาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อในช่องปาก ซึ่งบอกได้ว่าการอักเสบติดเชื้อในช่องปากสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ดังนั้นถ้าดูแลช่องปากได้ดี ก็จะลดโรคเหล่านี้ลงได้.


นวพรรษ บุญชาญ
 


  View : 3.09K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,847
 เมื่อวาน 1,949
 สัปดาห์นี้ 3,845
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 23,252
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 815,903
  Your IP : 54.36.148.186