เด็กยุคใหม่ ภาวะควบคุมตัวเองต่ำ

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
        ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วทำให้สังคมอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับผู้คนมีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากอดีต มีความซับซ้อนด้านความคิดที่ยากจะเข้าใจ ทำให้คนในสังคมต้องระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีผลต่อผู้ใหญ่เท่านั้น แม้แต่เด็กแรกเกิดก็ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน
       เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป วิธีการเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่ในปัจจุบันจึงต่างไปจากอดีต โดยมุ่งเน้นสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเอาชนะมลพิษทางสังคม
       นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น ภาคกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า ปัจจุบันการเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่มือใหม่แตกต่างไปจากอดีตมาก เนื่องจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งผู้ชายผู้หญิงต้องออกไปทำงานหารายได้มาจุนเจือครอบครัว จึงต้องจ้างพี่เลี้ยงมาดูแลบุตรหรือฝากไว้กับตายายช่วยเลี้ยงแทน ที่สำคัญพ่อแม่ยังใช้เวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกได้น้อยลง
      " ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำทำให้เด็กสมัยนี้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ได้มากกว่าเด็กในสมัยก่อนมาก แต่ก็ทำให้เด็กมีภาวะการควบคุมตัวเองต่ำลง เนื่องจากถูกตามใจและได้ทุกอย่างมาโดยไม่ต้องรอคอย ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อภาวะทางอารมณ์ของเด็ก" นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ กล่าว
      ทั้งนี้นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ยังแสดงความเป็นห่วงว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่มักเลี้ยงดูบุตรให้โตขึ้นมาพร้อมกับโทรทัศน์ การ์ตูน และวีดิโอเกมส์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เด็กในช่วงอายุตั้งแต่ 1-12 ปี ไม่ควรดูโทรทัศน์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน ไม่แนะนำให้ดูเลย รวมถึงไม่ควรอุ้มลูกอยู่ตลอดเวลา ควรปล่อยเด็กมาได้เดินหรือคลานเพื่อบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่
      พร้อมกันนี้ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ได้แนะนำวิธีการฝึกทักษะการเรียนรู้สำหรับพัฒนาการของลูกน้อยโดยเน้น 4 ทักษะ คือ การเรียนรู้ การเคลื่อนไหว การสื่อสาร และด้านอารมณ์ ซึ่งเด็กเล็กสามารถเรียนรู้ผ่านกิจวัตรประจำวันได้ เช่น การแปรงฝัน การรับประทานอาหาร หรือแม้แต่การวิ่งเล่น ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ อีกทั้งเด็กยังได้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อมัดเล็กอีกด้วย
      ส่วนด้านการสื่อสาร นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ แนะนำว่า เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน จะเป็นช่วงที่เด็กมีการจำจด ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนรอบข้างควรพูดคุยด้วยบ่อยๆ เพื่อให้เด็กจดจำคำศัพท์ได้มากขึ้น ด้านการแสดงอารมณ์เด็กจะสามารถแสดงความรู้สึกพื้นฐานได้ เช่น หิวหรือง่วงก็จะร้องไห้ หากดีใจก็จะยิ้ม หรือเมื่อเห็นแม่ยิ้มเด็กก็ยิ้มตอบ
      กระทั่งเด็กมีอายุ 1-3 ปี หรือที่เรียกว่า วัยเตาะแตะ เป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาสมอง เด็กมีพฤติกรรมต่อต้าน เมื่อผู้ใหญ่บอกให้ทำอะไรเด็กก็จะตอบว่า “ไม่” ทันที บอกให้ทำอย่างนั้น เด็กก็จะทำอีกอย่าง ตลอดจนการร้องไห้หรือแสดงอาการไม่พอใจเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ซึ่งผู้ปกครองควรรับมือกับพฤติกรรมเช่นนี้อย่างใจเย็น พยายามอธิบายด้วยคำพูดที่นุ่มนวล เป็นเหตุเป็นผล และอาจจะทำให้ดูเป็นแบบอย่าง
      ซึ่งนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ยังชี้แจงว่า สมองเป็นหน่วยควบคุมและสั่งการให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว และเมื่อร่างกายได้ทำกิจกรรมสิ่งเหล่านั้นก็จะกลับไปกระตุ้นให้สมองเกิดการแตกตัว สามารถทำงานได้ซับซ้อนมากขึ้น เช่น เมื่อเด็กได้ฟังที่ผู้ใหญ่พูดก็จะเกิดการจดจำและตีความทำให้สมองส่วนการจดจำทำงาน และเด็กก็จะพัฒนาสามารถเข้าไปประโยคที่มีความซับซ้อนมากขึ้นไป ในทางกลับกันหากสมองไม่ได้ถูกใช้งานเลยก็จะหายไป หรือที่เรียกว่าสมองฝ่อนั่นเอง
      นอกเหนือไปจากกิจกรรมที่เด็กได้ทำในชีวิตประจำวันแล้ว อาหารก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาของสมองเช่นกัน โดยอาหารที่เหมาะสมหรับเด็กคือ การทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เสริมด้วยดื่มนมวัน 2-3 แก้ว
      อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของเด็กจะสามารถเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด การดูแลความใจใส่ อบรมเลี้ยงอย่างใกล้ชิดและเหมาะสมของพ่อแม่ ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก
 
 
        ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์

 


  View : 1.96K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.133.109.30