เด็กรังแกกันผ่าน Social Network

  เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์

    พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้พฤติกรรมความรุนแรงหรือการรังแกกันผ่านสังคมออนไลน์ เช่น การโพสต์ หรือการแชร์เพื่อประจานให้เกิดความอับอาย กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น สังเกตได้จากทุกวันนี้มีเด็กและครอบครัวเข้ามาขอรับคำปรึกษากับสถาบันจิตเวชในสังกัดกรมสุขภาพจิตด้วยเรื่องดังกล่าวสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีมาก่อน แม้ขณะนี้จะยังไม่มีสถิติที่แน่ชัด แต่พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ การรังแกทางสังคมออนไลน์ที่พบได้บ่อย ส่วนมากจะพบเห็นในเว็บบอร์ดของโรงเรียน ด้วยการนำรูปลักษณ์ของคนอื่นมาโพสต์ประกอบถ้อยคำบางอย่างเพื่อประจาน หรือแพร่คลิปความรุนแรงต่างๆ ซึ่งคนส่งต่อก็มักจะหยิบภาพลักษณ์ทางลบเหล่านี้มาขยายออกไปจนกลายเป็นวงใหญ่ อย่างกรณี "เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่" เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเคยมีเด็กมาปรึกษาว่าหลังถูกโพสต์ประจานทำให้กลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งโรงเรียน แต่เป็นมุมที่เสียความรู้สึกต่อตัวเองอย่างมาก หลายครั้งหากพ่อแม่มีฐานะก็อาจย้ายโรงเรียนเพื่อหนีปัญหา แต่หากยังอยู่ในสังคมเดิมก็ต้องคิดว่า เด็กจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไรท่ามกลางความรู้สึกที่แย่แบบนั้น

       "สังคมออนไลน์เป็นวิถีชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ไปแล้ว ผู้ใหญ่ต้องทำให้เด็กเรียนรู้ร่วมกันว่าการโพสต์อะไรก็ตามจะละเมิดสิทธิคนอื่นไม่ได้ และหากเป็นฝ่ายถูกละเมิดสิทธิจะมีวิธีป้องกันอย่างไร หรือเมื่อเห็นเพื่อนถูกรังแกก็ไม่ควรเอาสิ่งเหล่านี้ไปขยายต่อเป็นเรื่องสนุก เพราะผลกระทบที่ตามมาอาจรุนแรงกว่าที่คาดคิด เช่น เด็กที่ตกเป็นเหยื่ออาจแก้ปัญหาแบบผิดๆ ด้วยการหันกลับมาทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายเพราะหาทางออกไม่ได้ หรือหันไปจัดการเพื่อนที่คิดว่าเป็นคนประจานเรา ทั้งที่อาจไม่ได้เป็นคนทำ ซึ่งเคสแบบนี้มีให้เห็นบ่อยครั้งในต่างประเทศ พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงครูอาจารย์ หรือผู้ดูแลเว็บบอร์ดโรงเรียนควรจะต้องมีทักษะป้องกันความรุนแรงด้วย" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

                                                                มติชนออนไลน์


  View : 1.91K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 218
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 6,885
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 43,602
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 836,253
  Your IP : 18.117.188.105