เร่งติดตามเด็กพัฒนาการล่าช้า

10 สิงหาคม 2561

รวบรวมข้อมูลโดย กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันราชานุกูล

           เร่งพัฒนาระบบติดตามเด็กพัฒนาการล่าช้า หลังพบกว่าร้อยละ 50 ยังขาดโอกาสกระตุ้นให้กลับมาสมวัย

          กรมสุขภาพจิต เผยผลการคัดกรองเด็ก 4 ช่วงอายุ 9 เดือน 18 เดือน 30 เดือน และ 42 เดือน ในปี 2561 พบเด็กพัฒนาการสงสัยล่าช้า 8,006 คน ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 30.48 ที่สามารถติดตามให้เข้ารับการกระตุ้นพัฒนาการ ที่เหลือร้อยละ 19.19 อยู่ระหว่างการติดตาม และร้อยละ 50.85 ไม่สามารถติดตามได้ ทำให้ขาดโอกาสการกระตุ้นให้กลับมามีพัฒนาการและฉลาดสมวัย

          นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ในด้านการตรวจคัดกรองเด็ก 4 กลุ่มวัย เพื่อค้นหาเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า เข้าสู่กระบวนการกระตุ้นพัฒนาการต่อเนื่อง จนกลับมามีพัฒนาการสมวัย ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2561 ณ วันที่ 15 พฤษภาคม พบเด็กพัฒนาการสงสัยล่าช้า 8,006 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 2,440 คน หรือร้อยละ 30.48 ที่สามารถติดตามให้เข้ารับการกระตุ้นพัฒนาการ ที่เหลือร้อยละ 19.19 อยู่ระหว่างการติดตาม และร้อยละ 50.85 ไม่สามารถติดตามได้ และในจำนวนที่เข้ารับการกระตุ้น ทั้งหมด ยังมีในส่วนที่เข้ารับการกระตุ้นไม่ครบเกณฑ์ถึง 1,160 คน

          จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ยังคงมีเด็กพัฒนาการล่าช้าจำนวนมาก ที่ขาดโอกาสการ กระตุ้นให้กลับมามีพัฒนาการและฉลาดสมวัย

          ทั้งนี้พบหลายปัจจัยเกี่ยวข้องที่ทำให้เด็กไม่ได้มารับการกระตุ้นพัฒนาการ เช่น ปัจจัยด้านบุคลากร ขาดทักษะการสื่อสารที่ชัดเจนกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง, ด้านพ่อแม่ผู้ปกครอง มีปัญหาทางเศรษฐกิจ มีทัศนคติต่อการเลี้ยงดูลูก ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเด็กเข้ารับการพัฒนา และด้านระบบที่ต้องเป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ กรมสุขภาพจิตจึงได้เร่งปรับปรุง พัฒนาแนวทางการติดตามเด็กพัฒนาการล่าช้า เพิ่มเติมจากแนวทางที่ดำเนินการแล้ว ได้แก่ การเพิ่มศักยภาพบุคลากร ในการสื่อสารกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็ก การเพิ่มศักยภาพของอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน และบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นผู้ช่วยติดตามเด็ก รวมทั้งสร้างและพัฒนาเครือข่ายกระตุ้นพัฒนาการเด็กใกล้บ้าน เน้นให้มีบุคลากรเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ปฏิบัติงานประจำในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มีความพร้อม ทั้งนี้เพื่อการบรรลุเป้าหมาย ปี 2561 ของกระทรวงสาธารณสุข เด็กปฐมวัย ไทย (อายุต่ำกว่า 5 ขวบ) ร้อยละ 85  มีพัฒนาการสมวัย

          นายแพทย์สมัย กล่าวถึงการพัฒนาการของเด็กว่า โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น  4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเคลื่อนไหวหรือกล้ามเนื้อมัดใหญ่, ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา, ด้านการเข้าใจภาษา, ด้านการช่วยเหลือและสังคม ซึ่งแต่ละด้าน แต่ละช่วงวัย จะมีการ กระตุ้นพัฒนาการที่แตกต่างกัน การกระตุ้นพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยต้องทำไปทีละระดับขั้นตอน หากเด็กมีพัฒนาการด้านใดด้านหนึ่งล่าช้า แล้วปล่อยไว้ไม่มีการกระตุ้น หากจะกลับมากระตุ้น ภายหลังจะเป็นเรื่องยาก เพราะสมองเดินไปข้างหน้าแล้ว

          ทั้งนี้เด็กมีความสามารถในเรื่องการพัฒนาสมอง หากพบว่าผิดปกติและทำการกระตุ้นแต่เนิ่น ๆ จะสามารถช่วยให้เด็กกลับมาเป็นปกติได้.

teenzone@dailynews.co.th

 

 

  View : 2.57K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 942
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 6,965
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,606
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 872,774
  Your IP : 18.118.151.112