แนะดูแลเด็กใกล้ชิดป้องกันอุบัติภัยในเด็ก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
    กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เตือนอุบัติภัยในเด็กมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งอุบัติเหตุทางถนน จมน้ำ และไฟฟ้าดูด พร้อมแนะผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
   ควรเพิ่มความระมัดระวังในการพาเด็กเดินถนน ข้ามถนน  ให้เด็กสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่โดยสารรถจักรยานยนต์ ไม่นำเด็กซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เกิน 2 คน พร้อมดูแลมิให้เด็กเล่นน้ำในอ่างน้ำหรืออาบน้ำตามลำพัง ให้เด็กสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ท่องที่ยวทางน้ำหรือประกอบกิจกรรมทางน้ำ รวมทั้งติดตั้งปลั๊กไฟให้สูงจากพื้นและพ้นจากมือเด็ก จัดวางเครื่องใช้ไฟฟ้าในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่ให้เด็กใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก
 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อุบัติภัยในเด็กมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากความซุกซนและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก การไม่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอเตือนอุบัติภัยที่มักก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กดังนี้
อุบัติเหตุทางถนน
 ควรให้เด็กเดินชิดด้านในของถนนหรือบนฟุตบาท โดยจูงมือเด็กให้แน่น ไม่พาเด็กเดินบนถนน และไม่ควรให้เด็กวิ่งเล่นบริเวณริมถนน เพื่อป้องกันเด็กถูกรถเฉี่ยวชน  พร้อมพาเด็กข้ามถนนตรงทางม้าลาย สะพานลอยหรือบริเวณที่ปลอดภัย ไม่พาเด็กวิ่งข้ามถนนหรือวิ่งตัดหน้ารถในระยะกระชั้นชิด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ หากนำเด็กโดยสารรถจักรยานยนต์ ควรให้เด็กสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานและมีขนาดพอดีกับศีรษะเด็ก
 ไม่นำเด็กเล็กโดยสารรถจักรยานยนต์ รวมถึงไม่นำเด็กซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากกว่า 2 คน เพราะจะทำให้รถทรงตัวไม่ดี ทำให้เด็กพลัดตกจากรถได้ กรณีนำเด็กโดยสารรถยนต์ ควรให้เด็กนั่งที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กบริเวณตอนกลางของเบาะหลังรถ ไม่ควรนำเด็กนั่งตักขับรถ เพราะจะส่งผลต่อสมรรถนะและสมาธิในการขับรถ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมกดล็อกประตูและกระจกรถ เพื่อป้องกันเด็กยื่นศีรษะ แขน ขา ออกนอกรถ ทำให้ได้รับอันตราย
อุบัติภัยจากการจมน้ำ
 กรณีเป็นเด็กอายุ 1- 4 ปี ไม่ควรให้เด็กเล่นน้ำในอ่างน้ำหรืออาบน้ำในห้องน้ำตามลำพัง ปิดประตูห้องน้ำให้สนิท จัดให้มีฝาปิดครอบภาชนะเก็บน้ำ พร้อมจัดทำรั้วกั้นรอบบ่อน้ำ สระน้ำ อ่างเลี้ยงปลา รวมถึงไม่ให้เด็กเล่นใกล้แหล่งน้ำ เพราะเด็กอาจลื่นตกน้ำ ทำให้จมน้ำเสียชีวิต กรณีเป็นเด็กอายุ 5 – 17 ปี ควรสอนให้เด็กว่ายน้ำเป็น พร้อมดูแลเด็กขณะเล่นน้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้เด็กสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ท่องเที่ยวทางน้ำและประกอบกิจกรรมทางน้ำ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะช่วยพยุงตัวเด็กไม่ให้จมน้ำ

อุบัติภัยจากไฟฟ้า
 ควรติดตั้งปลั๊กไฟในระดับที่พ้นจากมือเด็กโดยติดตั้งปลั๊กไฟให้สูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร หากปลั๊กไฟอยู่ในระดับที่ต่ำ ควรจัดหาที่ครอบปลั๊กไฟ เพื่อป้องกันเด็กเล่นปลั๊กไฟ ทำให้ถูกไฟฟ้าดูด พร้อมจัดวางเครื่องใช้ไฟฟ้าในบริเวณที่ปลอดภัย โดยเฉพาะพัดลม เตารีด กระติกน้ำร้อน จะช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับเด็ก ไม่ให้เด็กใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะการเสียบและถอดปลั๊กไฟ การเปิด-ปิดสวิตซ์ไฟ พร้อมถอดปลั๊กไฟและปิดสวิตซ์ไฟทุกครั้งหลังใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะความซุกซนและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก อาจทำให้เด็กถูกไฟฟ้าดูดได้ ท้ายนี้ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด พร้อมสอนเด็กให้เรียนรู้
"วิธีป้องกันอุบัติภัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับเด็ก"

ที่มา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)


  View : 4.90K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,284
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 7,307
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,948
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 873,116
  Your IP : 52.15.111.109