รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยเป็นปัญหาสำคัญที่สังคมไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะปัญหาซึมเศร้า ทำร้ายตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องให้ความสนใจ และสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานว่า มีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อจะได้ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทัน ก่อนที่จะเกิดปัญหาความสูญเสียต่างๆ ตามมา
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปี 2557 กลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตาย อยู่ที่ 0.63 ต่อแสนประชากร ขณะที่กลุ่มอายุ 15-19 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตาย อยู่ที่ 2.83 ต่อแสนประชากร หรือ กล่าวได้ว่า กลุ่มอายุ 10-19 ปี ฆ่าตัวตายเฉลี่ยเดือนละ 2 คน สำหรับปัจจัยที่นำไปสู่การทำร้ายตนเองของเด็กและวัยรุ่นนั้น มาได้จากหลายปัจจัย ทั้งการถูกเพื่อนล้อ ถูกรังแก กีดกัน เพื่อนไม่คบ ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า สมาธิสั้น มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่ำ รวมไปถึง ความกดดันในครอบครัว การถูกกดขี่ หรือ ถูกพ่อแม่ดุด่า หรือถูกทำโทษเสมอ นำไปสู่ความเครียด ภาวะซึมเศร้า จนทำร้ายตัวเองได้ในที่สุด
ทุกคนจึงควรร่วมด้วยช่วยกัน โดยเริ่มจากการสื่อสารพูดจากันในทางบวก ไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า ไม่ด่าทอ ดูถูกหรือเหยียด จนทำให้เด็กน้อยใจ ควรพูดคุยกันด้วยเหตุผล อธิบายถึงผลดี ผลเสีย และรับฟังเด็กให้มาก หากมีปฏิกิริยาหรือการต่อต้านเกิดขึ้น ต้องอธิบายและค่อยๆ เปลี่ยนแปลงความคิดทีละนิด หรือหากสังเกตเห็นเด็ก ซึมลง ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว ก็ให้เข้าไปถามไถ่ รับฟัง ให้กำลังใจ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา เป็นต้น
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เด็กบางคนอาจมีปัญหาในเรื่องการปรับตัว การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม แสดงอาการออกมาได้หลายอย่าง เช่น ซึมเศร้า ดื้อ ใช้อารมณ์ ใช้ความรุนแรง ซึ่ง พ่อแม่ และ ครู จะสามารถช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้ ด้วยการสังเกตความผิดปกติของเด็กที่เกิดขึ้น จากสัญญาณเหล่านี้ ในเด็กเล็ก เช่น ผลการเรียนตกลงอย่างชัดเจน ถึงจะพยายามอย่างมากก็ไม่ดีขึ้น มีความวิตกกังวลอย่างมาก อาจสังเกตได้จาก การไม่ยอมไปโรงเรียนบ่อย ๆ หรือไม่ยอมเข้าเรียน ไม่เข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อน หรือซนมาก อยู่ไม่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลามากกว่าการเล่นทั่ว ๆ ไป ฝันร้ายบ่อย ๆ ดื้อ ไม่เชื่อฟัง ก้าวร้าว ต่อต้านผู้ใหญ่เป็นประจำ หรือร้องไห้ อาละวาดบ่อย ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้ เป็นต้น ในเด็กโตและวัยรุ่นสังเกตได้จากการที่เด็กมีผลการเรียนเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีการใช้สารเสพติด หรือดื่มสุรา การกินการนอนเปลี่ยนไปจากเดิม เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ พูดหรือบ่นเจ็บปวดทางกายมากมาย ก้าวร้าว ต่อต้านผู้ใหญ่ หนีโรงเรียน ทำลายข้าวของ ลักขโมย อารมณ์ไม่แจ่มใส มองโลกในแง่ลบ คิดเรื่องตายบ่อย ๆ หรือมีอารมณ์โมโหรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เป็นต้น
ซึ่งหากพบว่าเด็กมีอาการผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเด็กได้แล้ว ให้รีบพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวิเคราะห์ และทำการรักษาตามอาการต่อไป เพื่อช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวอยู่ในครอบครัว โรงเรียน และสังคม ต่อไปได้ สำหรับ กรณีที่เด็กๆ ต้องพบเห็นการเสียชีวิตของเพื่อนต่อหน้า ย่อมทำให้เด็กจดจำภาพเหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจที่รุนแรงได้ จึงจำเป็นต้องมีการดูแลและเฝ้าระวัง โดยควรสังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อารมณ์ และสภาพจิตใจของเด็กว่าผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ เช่น ลุกลี้ลุกลน หรือซึมผิดปกติ หรือมีอารมณ์ขึ้นลงเร็วผิดปกติหรือไม่
ตลอดจนมีอาการตกใจกลัว หวาดระแวงหรือวิตกกังวลมากเกินไป หรือฝันร้ายบ่อยๆ หรือไม่ ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบเข้าไปดูแล และขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ ทั้งนี้ ในเบื้องต้น สามารถทำจิตบําบัดแบบกลุ่ม ให้เด็กๆได้ระบายความรู้สึกออกมาได้ โดยอาจให้ทำกิจกรรมศิลปะ วาดรูป ซึ่งปฏิกิริยาหรืออาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก เช่น กลัว ตกใจ จะสามารถสะท้อนออกมาให้เห็นได้จากภาพหรืองานศิลปะที่เด็กทำเพื่อจะได้ทำการช่วยเหลือต่อไป
สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่งทั่วประเทศ
กรมสุขภาพจิต