โรคในช่องปากกับ 6 ช่วงวัย คุณเสี่ยงแค่ไหน

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
           ปัญหาโรคในช่องปากสามารถพบได้มากใน คนทุกวัย ธรรมชาติของการเกิดโรคในช่องปาก นั้นจะพัฒนาไปตามช่วงวัย
เริ่มจากปัญหาฟันผุในกลุ่มเด็กและเยาวชน ไปจนถึงปัญหาโรค ปริทันต์ในวัยทำงาน และปัญหาการสูญเสียฟัน ทั้งในวัยทำงานและผู้สูงอายุ ซึ่งจากการสำรวจสภาวะสุขภาวะช่องปากโดยสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ครั้งล่าสุดปี 2555 พบว่าแต่ละช่วงวัยต่างก็มีปัญหาแตกต่างกันไป หากปล่อยให้เป็นเรื้อรังย่อมจะนำไปสู่ปัญหาเมื่ออายุมากขึ้น
          1. เด็กแรกเกิด - 3 ปี เด็กจะเริ่มมีฟันน้ำนมเมื่ออายุ 6 เดือน อย่างไรก็ตามพบว่าเด็กจะมีปัญหาฟันผุ ตั้งแต่อายุ 9 เดือน และผุมากขึ้นตามวัย โดยเด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุแล้วถึงร้อยละ 51.7 เฉลี่ย 2.7 ซี่ / คน และส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรักษา โรคฟันผุในวัยเด็ก ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ มีการศึกษาพบว่า การมีฟันผุหลายซี่ในปากมีความสัมพันธ์กับภาวะแคระแกร็นของเด็ก การสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนดทำให้เด็กรับประทานอาหารลำบาก เคี้ยวไม่สะดวก และเด็กที่มีฟันน้ำนมผุมากจะมีแนวโน้มว่าฟันแท้จะผุมากขึ้นเช่นกัน
          เหตุนี้ ผู้ปกครองจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของฟันน้ำนม ต้องไม่ละเลยการทำความสะอาดช่องปากให้เด็กเพื่อให้เด็กเคยชินเมื่อเริ่มมีฟัน เพราะเมื่อฟันน้ำนมขึ้นหลายซี่พบว่าเด็กส่วนใหญ่จะไม่ให้ความร่วมมือในการแปรงฟัน สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ผู้ปกครองที่จะใส่ใจสุขภาพฟัน การเดินทางไปตรวจสุขภาพปากและฟัน การรับวัคซีน และเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ที่มีความเสี่ยงต่อฟันผุควรได้รับการทา ฟลูออไรด์วานิชที่ตัวฟันทุก 3-6 เดือน เพื่อป้องกันฟันผุ
           2. เด็ก 3 - 6 ปี ข้อมูลการเกิดโรคที่อายุ 5 ปี พบว่ามีฟันผุถึงร้อยละ 78.5 เฉลี่ย 4.4 ซี่/คน เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล แม้ว่าจะมีการจัดนมจืดให้แก่เด็กแล้วก็ตาม แต่ยังพบว่าเด็กยังดื่มนมหวานและนมเปรี้ยวเมื่ออยู่ที่บ้านถึงร้อยละ 39.4 การเลิกขวดนมช้านอกจากจะเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุแล้วยังมีโอกาสเกิดความผิดปกติของการสบฟันในอนาคต เหตุนี้  ผู้ปกครองจึงต้องเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพช่องปาก โดยการแปรงฟันหลังอาหารกลางวันทุกวัน จัดอาหารว่างที่เน้นผลไม้สดแทนขนมหวาน และ ช่วยเด็กเลิกขวดนม รวมทั้งขนมขบเคี้ยวที่ไม่จำเป็น
           3. เด็ก 6-12 ปี เด็กในวัยนี้อยู่ในช่วงประถมศึกษา การสำรวจพบว่ามีฟันผุแท้ร้อยละ 52.3 เฉลี่ย 1.3 ซี่/คน มาตรการควบคุมฟันผุในกลุ่มวัยนี้ คือการ ฝึกให้เด็กแปรงฟันอย่างถูกต้องหลังอาหารกลางวันที่โรงเรียนทุกวัน การเคลือบหลุมร่องฟันกรามแท้ รณรงค์โรงเรียนที่ปลอดน้ำอัดลม น้ำขนมหวาน ขนม กรุบกรอบ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 75 ทั่วประเทศ
           4. กลุ่มวัยรุ่น / เยาวชน ผลการสำรวจสุขภาพ ช่องปากที่อายุ 15 ปี พบโรคฟันผุร้อยละ 62.4 ปัญหาสำคัญยังคงอยู่ที่พฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมและขนมหวาน รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคขนมกรุบกรอบตามกระแสนิยม มีการบริโภคขนมกรุบกรอบทุกวันร้อยละ 38.4 และใช้จ่ายเงินสำหรับขนมและเครื่องดื่มเหล่านี้มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นด้วย เยาวชนได้รับบริการตรวจสุขภาพช่องปากเพียงร้อยละ 41.1 ปัญหาจึงอยู่ที่อาหารการกินซึ่งจำเป็นต้องสร้างความตระหนัก
          5. วัยทำงาน คนในกลุ่มอายุ 35-44 ปี ปัญหาที่พบเกิดจากโรคฟันผุสะสม คนช่วงอายุนี้มีการอักเสบของเหงือก มีเลือดออกง่ายร้อยละ 39.3 พบปัญหาปริทันต์อักเสบที่มีการทำลายของกระดูกรองรับรากฟันร่วมด้วยร้อยละ 15.6 นอกจากนี้ ยังพบปัญหาโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 35.2 กลุ่มวัยทำงานยังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคในช่องปาก โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ร้อยละ 19.6 สำหรับการไปใช้บริการทันตกรรมในรอบปี ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.0 ไปรับบริการเมื่อมีอาการปวดและเสียวฟันแล้ว มีเพียงร้อยละ 10.1 เท่านั้นที่ไปตรวจสุขภาพช่องปากโดยไม่มีอาการ อย่างไรก็ตามวัยทำงานส่วนใหญ่ร้อยละ 93.7 ยังรู้สึกว่าไม่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก เพราะสามารถใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารได้ดี นอกจากนี้ ยังพบว่าวัยทำงานเริ่มมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีผลต่อสุขภาพช่องปาก
         6. ผู้สูงอายุ ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ มีอยู่ 7 ประเด็น นอกจากการสูญเสียฟันแล้ว ยังมีเรื่องฟันผุ /รากฟันผุ โรคปริทันต์ มะเร็งช่องปาก ภาวะน้ำลายแห้ง ฟันสึก และโรคในช่องปากที่สัมพันธ์กับโรคทางระบบ ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติในกลุ่มผู้สูงอายุ 60-74 ปี โดย สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ครั้งล่าสุด ปี 2555 พบว่า ผู้สูงอายุเสียฟัน ทั้งปากแล้วร้อยละ 7.2 และสูญเสียฟันบางส่วนเกือบทุกคน ส่งผลให้เกิดความต้องการใส่ฟันเทียม บางส่วนสูงถึงร้อยละ 72.7 ที่น่าห่วงมากขึ้น คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีฟันพบว่ามีโอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกือบทุกคนมีฟันผุ โรคปริทันต์ และอีกร้อยละ  17 มีรากฟันผุ
 เคล็ดลับเลี่ยงโรคช่องปาก มีดังนี้
           1. เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง ขนมหวาน น้ำอัดลม หันมาทานผักและผลไม้แทนในมื้อว่างจะดีกว่า
           2. อาหารที่มีวิตามินซีสูง และวิตามินบี 2 สูง มีประโยชน์ต่อปากและฟัน
           3. เลี่ยงอาหารที่แข็งมากเพราะเสี่ยงต่อฟันสึกและแตกได้
           4. ดื่มน้ำอย่างพอเพียง เพื่อเลี่ยงกลิ่นปากและฟันผุ
           5. ใช้ไหมขัดฟัน หรือแปรงขัดซอกฟันโดยเฉพาะผู้สูงอายุ
           6. ควรบ้วนปาก หรือแปรงฟันหลังอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาลสูง
           7. ใช้แปรงสีฟันอย่างถูกวิธี เลือกขนแปรงที่นุ่ม และเมื่อแปรงสีฟันบานให้รีบเปลี่ยน
           8. มีปัญหาเรื่องสุขภาพปากและฟันอย่าปล่อยไว้ให้ไปพบทันตแพทย์
           9. ไปตรวจสุขภาพปากและฟันหรือขูดหินปูนอย่างสม่ำเสมอแม้ไม่มีปัญหา


  View : 13.29K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 529
 เมื่อวาน 971
 สัปดาห์นี้ 3,718
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 27,653
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 876,821
  Your IP : 185.191.171.7