ปี 2553-2555….”การเดินทางเริ่มต้น”
ปี 2553 เป็นการเริ่มต้นการทำงานร่วมกับระหว่าง “สถาบันราชานุกูล” กับ “มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก” เครือข่ายเอกชนที่ทำงานด้านเด็กผ่านสื่อหนังสือนิทาน นำไปสู่ความร่วมมือของเครือข่ายอื่นๆที่ต้องการเพาะบ่มจิตอาสาสู่สังคมไทยแก่ “เด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา”
การดำเนินโครงการขับเคลื่อนด้วยการแบ่งปันทรัพยากรที่มีในองค์กรแต่ละแห่ง ในส่วนของสถาบัน ราชานุกูลนั้น มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา และครอบครัว ส่วนมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กนั้น มีกิจกรรม “โครงการหนังสือเล่มแรก (Book Start)” โครงการดีที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัวด้วยการสร้างกระบวนการให้พ่อแม่ลูกมีความสุขร่วมกันในโลกของหนังสือ และศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นจุดรวมอาสาสมัครที่มีจิตอาสาเข้ามาร่วมกิจกรรม
ปีพุทธศักราช 2554-2555 โครงการอาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัด ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การทำงานมีความชัดเจนและมีการร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆมากขึ้น โดยมีบริษัท สตาร์บัคส์ ไทยแลนด์ ให้การสนับสนุนงบประมาณ และมีการนำกิจกรรมเล่านิทานเพื่อการบำบัดไปใช้เป็นกิจกรรมหลักของการให้บริการผู้ป่วยในของสถาบันราชานุกูล โดยส่งบุคลากรเข้าอบรมทักษะการเล่านิทานกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับผู้ปกครองที่ไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมในกิจกรรมปกติของโครงการ
ปี 2556
มีการเริ่ม กิจกรรม “นิทานสร้าง...ได้” จากความตั้งใจจากผู้ปกครองซึ่งเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ฟัง” มาสู่บทบาทของ “ผู้เล่า”ทำงานแบบจิตอาสาเชิงรุก โดยการนำกิจกรรมการใช้สื่อนิทานเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการไปใช้กับครอบครัวในโรงเรียนเครือข่ายภายนอกและหอผู้ป่วยภายในสถาบันราชานุกูล มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการใช้สื่อนิทานในการส่งเสริมพัฒนาการลูกและสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ปกครองอื่น ให้รับรู้และหันมาให้ความสำคัญกับการเล่านิทาน
ปี 2557…
จากกิจกรรมโครงการอาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัดที่สถาบันราชานุกูล ได้ต่อยอดเป็นแนวคิดและความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายเด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและครอบครัวที่อยู่นอกระบบสาธารณสุข เช่น โรงเรียนที่มีชั้นเรียนการศึกษาพิเศษ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เป็นต้น โดยใช้กิจกรรมเช่นเดียวกับโครงการอาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัด ชื่อว่า“นิทานสานรัก” เริ่มนำร่องที่โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิเศษประเภทต่างๆและได้รับการสนับสนุนอาสาสมัครและงบประมาณจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ปี 2558 ถึงปัจจุบัน
ได้มีการปรับกิจกรรมมาเป็นการนำร่องกิจกรรม”นิทานเพื่อการบำบัด” โดยกลุ่มนิทานสร้าง...ได้ เข้ามาร่วมวางแผนการดำเนินงาน การออกแบบและคัดเลือกกิจกรรมจากความต้องการของผู้ปกครองจริงๆ รูปแบบจะเป็นลักษณะผู้ปกครองเป็นคนสอนผู้ปกครองใช้นิทานในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเอง เทคนิคต่างๆก็มาจากประสบการณ์ตรง ผสมผสานกับพื้นฐานการลองผิดลองถูกกับลูกๆของตนเอง โดยมีทีมMommy Puppet มาร่วมเป็นเครือข่ายใหม่
โครงการอาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัด มีการดำเนินงานโดยกลุ่มผู้ปกครองที่มีความเข้มแข็ง และค้นหาเครือข่ายต่อยอดได้ด้วยตนเอง ในอนาคตนั้น จะมีการพัฒนาและสรรค์สร้างเครือข่ายให้ขยายมากยิ่งขึ้น มีรูปแบบและองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างเข้าใจและตรงความต้องการของครอบครัวเด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาอย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การเปิดโอกาสให้นิทานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและสร้างสรรค์พัฒนาการแก่เด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาต่อไป