“แท็บเล็ต” กับอนาคตของชาติ

โดย ศูนย์ข้อมูลวิชาการ จากเดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2555
 
ท่ามกลางกระแสสังคมที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแจก “แท็บเล็ต” ให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1 วันก่อน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว “แท็บเล็ตกับพัฒนาการเด็กไทย” สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจจึงขอนำมาเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกัน

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า แท็บเล็ตเป็นสื่อทันสมัย ช่วยเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กว้างขึ้น เป็นทางเลือกใหม่ในการใช้สื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งพ่อแม่ ครูและนักเรียน ช่วยให้เด็กได้ฝึกประสบการณ์ทางภาษา มีประสบการณ์เรื่องเทคโนโลยี การฝึกคิดสร้างสรรค์ เกิดความสนใจใฝ่รู้ แต่จำเป็นต้องรู้เท่าทัน

แท็บเล็ตมีประโยชน์มากมาย แต่อาจกลายเป็นพิษสำหรับลูกหลานได้หากไม่มีการดูแลกำกับการใช้ เด็กอาจถูกบั่นทอนสุขภาพ ใช้ เพลินจนไม่กิน ไม่นอน นิ้ว คอเคล็ด ไม่อยากวิ่งเล่น เขียนหนังสือ หรือทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆที่สำคัญ อาจเกิดโรคติดแท็บเล็ต ซึ่งการปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ให้เด็กเข้าไปเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและเป็นไปได้ยากมากในยุคที่เด็กต้องเติบโตท่ามกลางกระแสการไหลบ่าของเทคโนโลยี

ข้อแนะนำสำหรับครู ต้องมีความพร้อมและรู้เท่าทันเทคโนโลยี ตลอดจนต้องเตรียมการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น ต้องจัดสิ่งแวดล้อมที่จูงใจและเสริมแรงให้เกิดการเรียนรู้ จัดกิจกรรมและสถานการณ์ให้เด็กได้แสดงออกและคิดอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้นักเรียนฝึกคิดและทำ ต้องใช้แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น

ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง คือ ต้องติดอาวุธทางปัญญา และสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกหลาน ดังนี้ 1. ใกล้ชิด มีความสำคัญเป็นอันดับแรกสุด พ่อแม่ต้องแบ่งเวลาเลี้ยงดูลูก เล่นกับลูก สอนลูกตั้งแต่วัยแบเบาะ สร้างความรัก ความอบอุ่น ความผูกพัน ซึ่งจะเป็นรากฐานแห่งสายสัมพันธ์ในครอบครัว หากลูกได้รับแท็บเล็ตควรเริ่มตั้งแต่วันแรกที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ทำกิจกรรมร่วมกัน ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนการรับรู้ การให้เหตุผล ตลอดจนสอบถามเรื่องงานที่ครูมอบหมายผ่านแท็บเล็ต รวมทั้งสังเกตและติดตามความรู้สึกของลูกจากการใช้อยู่เสมอ 2. ฝึกคิดและทักษะชีวิต จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ลูก เช่น เล่านิทาน อ่านหนังสือ เล่นของเล่น เล่นเกม พาไปทัศนาจร ฝึกให้ช่วยทำงานบ้าน ฝึกแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้อื่น สอนให้ฝึกคิดเป็นและรู้หลักการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ทั้งนี้ ในการใช้ประโยชน์จากแท็บเล็ตพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก 3. ปลูกจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ฝึกให้รู้จักรับผิดชอบต่อตนเอง พ่อแม่ ครอบครัว เพื่อน ครู และสังคม 4. สร้างกรอบวินัย ฝึกลูกให้รู้จักมีระเบียบวินัยและกติกาเพื่อไม่ให้ทำอะไรตามใจตัวเอง ตั้งกฎเกณฑ์กติกาในการใช้งานตั้งแต่แรก เช่น การจำกัดเวลาและเงื่อนไข

ควรให้ใช้แท็บเล็ตไม่เกินวันละ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง โดยสร้างกิจกรรมอื่นของครอบครัวร่วมด้วยโดยต้องชี้แจงถึงเหตุผลจนลูกเข้าใจและยอมรับหากทำผิดกติกา ส่งเสริมให้ลูกใช้ไอทีในการค้นคว้าเรียนรู้ ทำรายงานส่งครู วาดภาพ เล่นดนตรี มากกว่าเล่นเกม หากลูกต้องการเล่นเกมพ่อแม่ไม่ควรห้ามแต่ควรดูเกมที่ลูกเล่นว่ามีความเหมาะสมตามวัยของลูกเพียงใด ซึ่งทั้ง 4 ข้อนี้ จะเป็นภูมิคุ้มกันโรคติดการใช้แท็บเล็ต หรือไอที ได้เป็นอย่างดี
 
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีรุกคืบเร็วมาก มีคนบอกว่าเหมือนเราเอาโลกนอกบ้านมาไว้ในบ้าน จึงต้องฝากคุณพ่อคุณแม่ดูแลเพราะบางทีละเลยวางทิ้งไว้ มันมีแอพพลิเคชั่นบางอย่างซึ่งเหมาะกับการใช้งานสำหรับผู้ใหญ่ แต่ไม่เหมาะกับเด็ก ดังนั้นไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่กับเทคโนโลยีตามลำพัง เราเคยพูดกันเรื่องทีวี ลูกดูทีวีแล้วนั่งนิ่ง ไม่วุ่นวายดี อันนี้ก็เหมือนกันลูกอยู่กับแท็บเล็ตดูนิ่ง ไม่วุ่นวาย แต่ผลกระทบที่ตามมามันไม่คุ้ม

สิ่งที่ทำง่ายที่สุด อันดับหนึ่งคือ จำกัดเวลา โดยเฉพาะเด็กเล็กจะได้มีกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างอื่นทำด้วย แต่ถ้าปล่อยให้เด็กอยู่กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะทำให้ติดแล้วเลิกยาก หากิจกรรมอื่นมาทดแทนได้ยาก เพราะความไว ความตื่นเต้น การถูกเร้าสู้ไม่ได้ การใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนติด ก็เหมือนการติดประเภทอื่น ๆ คือ ต้องไปบำบัด รักษา

การติดแท็บเล็ตจะส่งผลให้เด็กขาดความยับยั้งชั่งใจ เด็กจะทิ้งการเรียน ชั้นเรียน ซึ่งเมื่อไหร่ที่เขาทิ้งสิ่งเหล่านี้ก็แสดงว่าโอกาสของเขาที่จะเดินต่อไปในวันข้างหน้ามันลดลงทันที มีการศึกษาพบว่า เด็กที่อยู่กับเทคโนโลยีใหม่มากในเวลาที่มากเกินไป จะมีผลต่ออารมณ์ คือ 1. ขี้โมโหมากขึ้น เพราะทุกอย่างมันไวหมด เวลาอยู่กับโลกจริงมันช้า 2. มีคำพูดที่ไม่สุภาพมากขึ้น 3. พูดในสิ่งไม่เป็นความจริงมากขึ้น

แอพพลิเคชั่นที่เป็นประโยชน์กับเด็กมีเยอะ แอพพลิเคชั่นหลายตัวทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างครอบครัวได้ ดังนั้นวิธีง่าย ๆที่ขอแนะนำพ่อแม่ ผู้ปกครอง คือ ถ้าไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ควรให้ลูกเป็นคนเอาเข้ามาหาเรา จะทำให้เราและลูกมีส่วนร่วมด้วยกัน การทำกิจกรรมร่วมกันอย่างน้อยเด็กก็ยังได้ยินเสียงพ่อแม่ ไม่ได้ฟังแต่เสียงที่มาจากเทคโนโลยีอย่างเดียว

แท็บเล็ตกับเด็ก ป. 1 ส่วนตัวมองว่าเด็กสามารถใช้ได้ แต่ไม่ควรใช้งานตามลำพัง เพราะความรับผิดชอบของเขายังไม่สมบูรณ์ ถ้ามีคนเข้าไปช่วย ไปตั้งคำถาม ไปมีส่วนร่วม จะเป็นประโยชน์มากขึ้น มันเป็นโอกาสที่จะเริ่มให้เขาเห็นอีกด้านหนึ่งว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นซึ่งเด็กจะซึมซับได้ง่าย เราต้องสอนเขาว่าเขามีโอกาสที่จะเจอสิ่งแปลกปลอม คนแปลกหน้าสิ่งที่จะส่งเข้ามาซึ่งไม่เหมาะสม ถ้าใช้เป็นเทคโนโลยีก็เป็นประโยชน์ เพราะบางโปรแกรมก็ช่วยพัฒนาระบบคิด ทำให้เด็กได้เรียนรู้ มันเป็นแรงจูงใจ เพราะมีภาพ มีสี และเข้าถึงหนังสือดี ๆ ได้ ในอนาคตเชื่อว่าทุกบ้านจะมีแท็บเล็ต มันจะเหมือนทีวีคือบ้านหนึ่งมีมากกว่า 1 เครื่อง.
นวพรรษ บุญชาญ


  View : 5.53K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,081
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 7,748
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 44,465
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 837,116
  Your IP : 18.226.187.210