นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ว่า กรมสุขภาพจิตได้เก็บข้อมูลสถานการณ์ข่าวทางสังคมที่เกิดขึ้น จากสื่อสิ่งพิมพ์ จำนวน 48 ฉบับ สื่อโทรทัศน์ จำนวน 10 สถานี เว็บไซต์และสำนักข่าวออนไลน์ จำนวน 40 เว็บไซต์ ในรอบปี 2557 พบว่า สถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งประกอบด้วย ความรุนแรงทางสังคมและการเมือง ความรุนแรงในชายแดนใต้ ความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงของเด็กและวัยรุ่น ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ เพิ่มขึ้น ล่าสุด ปี 2557 ถูกนำเสนอมากกว่า 25,000 ครั้ง ความรุนแรงทางสังคมและการเมืองถูกนำเสนอ จำนวน 8,182 ครั้ง ความรุนแรงในชายแดนใต้ จำนวน 6,170 ครั้ง ความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก จำนวน 5,524 ครั้ง ความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 4,314 ครั้ง และความรุนแรงของเด็กและวัยรุ่น จำนวน 897 ครั้ง ซึ่งเหล่านี้ เป็นตัวสะท้อนถึงภาวะทางอารมณ์ของคนเราที่ขาดการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม ความรุนแรงและความสูญเสียจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง อธิบดีกรมสุขภาพจิต จึงได้เชิญชวนให้คนไทยมาร่วมปลดล็อกอารมณ์ โดย การทำใจให้สบาย ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป ที่สำคัญ รู้จักจัดการกับอารมณ์ทางลบ ได้แก่ โกรธ กลัว วิตกกังวล เทคนิค คือ จับสัญญาณเตือนของอารมณ์ที่เริ่มเกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด เช่น หัวใจเต้นแรง กล้ามเนื้อเริ่มเกร็ง เหงื่อไหล หน้าเริ่มร้อน หรือ หน้าเริ่มซีด เมื่อรู้ถึงอาการที่เกิดขึ้นก็ควรหยุดนิ่งสักพัก รู้ทันสถานการณ์ที่มากระตุ้นอารมณ์ เช่น โกรธ เมื่อรู้สึกว่าถูกดูหมิ่น จึงควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่อาจเข้ามากระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธ จัดการอารมณ์อย่างถูกวิธี ลดอารมณ์โกรธให้ได้ โดยอาจใช้เทคนิคควบคุมพฤติกรรม เช่น พักยกหรือหยุดชั่วคราว นับเลขถอยหลังจาก 10 ถึง 1 ขอเวลาไปห้องน้ำ หรือดื่มน้ำสักแก้ว สูดลมหายใจลึกๆ เกร็งและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ กล้าแสดงออกถึงความรู้สึกแต่ไม่ก้าวร้าว หลีกเลี่ยงความรู้สึกอคติที่เกิดขึ้น โดยบอกความรู้สึกตนเองอย่างตรงไปตรงมา ไม่กล่าวโทษ ด่วนสรุปหรือตัดสินอีกฝ่ายโดยไม่ไตร่ตรอง ขออภัยกับการกระทำที่เกิดจากการเข้าใจผิด รวมทั้ง สร้างบรรยากาศความไว้วางใจและใช้อารมณ์ขันเพื่อสร้างความอบอุ่น ส่วนการปลดล็อกอารมณ์ของคนอื่น สามารถทำได้โดย พยายามอ่านใจและอารมณ์ของอีกฝ่ายให้ได้ เช่น การถามตรงๆ ถึงความคับข้องใจหรือไม่สบายใจของอีกฝ่าย จัดการอารมณ์ของอีกฝ่าย โดยกล่าวขอโทษ หรืออาจขอเวลานอกเพื่อให้อีกฝ่ายคิดทบทวนอีกครั้ง ใช้ความสงบสยบความรุนแรง ไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเสียหน้า รวมทั้ง อาจหาผู้ช่วยไกล่เกลี่ยหรือประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้น ฯลฯ
ทั้งนี้ สามารถเริ่มต้นได้ที่ครอบครัว ซึ่งจะช่วยให้ครอบครัวเกิดความรักความผูกพัน เติมเต็มความสุข ความสมานฉันท์และเข้าใจกันได้มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ช่วยตัดวงจรความรุนแรงภายในครอบครัว นำไปสู่ความสุขของครอบครัวและสังคมต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยต้องการ ดังผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,040 คน ในหัวข้อ “ท่านอยากให้ครอบครัวเป็นอย่างไร” ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่พบว่า ประชาชนเกินครึ่ง (ร้อยละ 64.21) อยากให้ครอบครัวมีความสุข และสิ่งที่อยากทำให้ครอบครัวมากที่สุด คือ การคิดดี ทำดี และเป็นคนดี ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่เราทุกคนจะใช้เป็นวันเริ่มต้นในการปลดล็อกอารมณ์ทางลบที่ขุ่นมัว เพื่อความสุขของครอบครัวและสังคมไทยของเรา อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว