รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
เด็กเป็นวัยแห่งการเจริญเติบโต จึงจำเป็นต้องการพลังงานและสารอาหารเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวมากกว่าผู้ใหญ่ เด็กควรได้รับประทานอาหารหลักวันละ 3 มื้อ อย่างไรก็ดีกระเพาะอาหารของเด็กยังมีขนาดเล็ก อาจไม่สามารถกินอาหารมื้อหลักในปริมาณที่มากพอกับพลังงานที่ต้องการได้ ดังนั้นเด็กควรกินอาหารว่างเพื่อให้ได้พลังงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังช่วยเสริมการเรียนรู้ในเรื่องการกินอาหารที่หลากหลายและเสริมสร้างความสุขในชีวิตประจำวันของเด็ก
มีข้อมูลเรื่องการรับประทานอาหารว่างของเด็กในปัจจุบันพบว่า เด็กได้รับพลังงานจากอาหารว่างและขนมมากกว่าที่ควรได้รับ โดยส่วนหนึ่งเป็นขนมที่ยังไม่เหมาะสม เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำเช่นอุดมไปด้วยไขมัน แป้งและน้ำตาลส่งผลให้เด็กมีปัญหาโภชนาการเกินเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นการให้ความรู้แก่เด็กและผู้ปกครองเพื่อเลือกขนมถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น
- ขนมและอาหารว่างสำหรับเด็ก มีมากมายหลายชนิดแบ่งได้ดังนี้
ขนมซองหรือขนมถุงกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ
ขนมโปรตีนอบแห้ง ธัญพืชอบแห้ง
ลูกอม ลูกกวาด ช็อกโกแลต นมอัดเม็ด
ผลไม้สด เช่น ส้ม ฝรั่ง ชมพู่ มะละกอ หรือผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่นทุเรียน ลำไย ขนุน ผลไม้อบแห้งเช่น กล้วยตาก
ขนมหวานของไทย เช่น ขนมตาล ขนมกล้วย ถั่วแปบข้าวต้มมัด หรือชนิดที่หวานจัดมีกะทิเช่น หม้อแกง ทองหยอด ตะโก้ กล้วยเชื่อม
เครื่องดื่ม น้ำผลไม้มีทั้งชนิดที่เติมและไม่เติมน้ำตาล นมเปรี้ยว น้ำอัดลม
ของว่างจำพวกเบเกอรี่คุ้กกี้ พาย ไอศกรีม
ขนมจีบ ซาลาเปา ขนมปังใส่ไส้ แซนวิชทูน่า
- หลักการเลือกขนมสำหรับเด็ก มีดังนี้
เลือกขนมที่มีพลังงานไม่สูงมากไม่ควรมีน้ำมันและน้ำตาลมากเกินไป มีข้อกำหนดของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยให้เด็กควรได้รับพลังงานจากอาหารว่างไม่เกินมื้อละ 100-150 กิโลแคลอรี่ วันละ 2 ครั้ง
อาหารว่างควรมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายต่อไปนี้ไม่น้อยกว่า 2 ชนิดได้แก่โปรตีน เหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ ซี บี 1 บี 2 หรือใยอาหาร โดยแต่ละชนิดมีปริมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน
ควรเลือกซื้อขนมที่มีสีตามธรรมชาติ ไม่ควรเลือกขนมที่ใส่สีฉูดฉาด
ผู้ปกครองและเด็กควรเลือกขนมโดยการพิจารณาจากข้อมูลบนฉลากโภชนาการ
ควรปลูกฝังให้เด็กรับประทานผลไม้รสไม่หวานเช่น ส้ม ฝรั่ง ชมพู่ มะละกอ หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด ส่วน
อาหารว่างอื่นที่ควรมีในบ้านได้แก่ นมจืด ผลไม้สด ขนมปังกรอบชนิดโฮลวีต หรืออาจเป็นขนมหวานของไทยที่รสไม่หวาน หลีกเลี่ยงชนิดที่หวานจัดมีกะทิ ส่วนขนมถุงกรุบกรอบที่มีเกลือและผงชูรสเป็นส่วนประกอบนั้นไม่เหมาะที่จะเป็นอาหารว่าง
ไม่ควรบริโภคน้ำอัดลมน้ำหวาน หรือนมเปรี้ยว
ไม่ควรใช้อาหารหรือขนมเป็นรางวัล
- ข้อควรระวังเกี่ยวกับของการกินขนม
ถ้ากินขนมมากเและยังกินอาหารหลัก3 มื้อได้มากจะทำให้เกิดโรคอ้วน
กินขนมมากแต่กินอาหารหลัก 3 มื้อน้อย จะทำให้เด็กผอมร่วมกับการขาดสารอาหาร วิตามินและ
เกลือแร่ได้อีกด้วย
เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงถ้ากินอาหารว่างที่มีเกลือสูง
ถ้ากินขนมหวานแล้วดูแลฟันไม่ดี ก็จะเกิดฟันผุ
นอกจากนี้ถ้ากินอาหารว่างที่มีรสหวานบ่อยๆ เด็กจะติดหวาน ไม่ชอบกินผักผลไม้หรืออาหารที่มีกากใย
- ข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับการกินขนม
ควรกินห่างจากมื้ออาหารไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง
ไม่กินอาหารว่างก่อนนอน
กินขนมแล้วให้ดื่มน้ำเปล่า บ้วนปากหรือแปรงฟันด้วยเพื่อกำจัดของหวานและช่วยลดจำนวนแบคทีเรียในช่องปากอันเป็นสาเหตุของฟันผุ
ผู้ปกครองและเด็กควรรู้จักเลือกชนิดของขนมให้มีสารอาหารและพลังงานที่เหมาะสมไม่กินมากหรือน้อยเกินไป และกินขนมให้เป็นเวลาให้เหมาะสม โดยไม่ละเลยการกินอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ เพื่อสุขภาพที่ดีสำหรับเด็กทุกคน
ที่มา : เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
โดย พญ.อรวรรณ เอี่ยมโอภาส สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี