นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบัน(ส.)ราชานุกูลว่า โรงพยาบาลแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นสถาบันทางวิชาการ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญระดับประเทศในการพัฒนาคุณภาพระบบบริการเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาตั้งแต่แรกเกิด-5 ขวบ โดยไทยพบผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาประมาณร้อยละ 2 ของประชากร คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 1.3 ล้านคน สาเหตุเกิดมาจากการทำงานของสมองผิดปกติ ภาวะบกพร่องฯนี้พบได้ในเด็กหลายกลุ่มโรค เช่น ออทิสติกพบได้ร้อยละ 70 หรือ ในกลุ่มดาวน์ซินโดรม เป็นต้น และยังมีปัญหาสุขภาพอื่นๆร่วมด้วย เช่น พบอาการชักได้ร้อยละ 25 สูงกว่าเด็กปกติ 10 เท่าตัว อาการแสดงที่สำคัญและโดดเด่นคือ เด็กจะมีพัฒนาการล่าช้า ยิ่งสติปัญญาบกพร่องรุนแรง ความล่าช้าทางพัฒนาการก็จะยิ่งเห็นได้เร็วขึ้น จะต้องได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างถูกวิธี ทั้งการรักษาและการกระตุ้นพัฒนาการให้สมองและกล้ามเนื้อทำงานดีขึ้น
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการดูแลเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา จะเน้นการฟื้นฟูสมรรถภาพของสมองและร่างกาย หยุดยั้งไม่ให้ความพิการเพิ่มขึ้น เด็กสามารถพึ่งตนเองได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติที่สุดเป็นภาระครอบครัวและสังคมน้อยที่สุด ซึ่งการดำเนินงานของส.ราชานุกูลขณะนี้มีความก้าวหน้ามาก มีทีมสหวิชาชีพกระตุ้นพัฒนาการของเด็กทั้งการเคลื่อนไหว การฝึกพูด อ่าน เขียน จัดการศึกษาพิเศษทั้งรายกลุ่มและรายบุคคลเพื่อให้เด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียนหรือด้านอาชีพที่เหมาะสม โดยมีศูนย์ฝึกอาชีพอยู่ที่ตำบลบางพูน จ.ปทุมธานี กำลังปรับปรุงศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการราชานุกูลที่แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ส่วนด้านบริการโดยเฉพาะที่แผนกผู้ป่วยนอกจะทำเป็นสมาร์ท โอพีดี(Smart OPD) มีระบบนัด ระบบคิว และระบบเรียกเก็บเงินที่ทันสมัย บริการรวดเร็วขึ้น จัดสิ่งแวดล้อมสถานที่บรรยากาศที่เป็นมิตรกับเด็ก และจะเพิ่มการดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีแบบผู้ป่วยในด้วย คาดว่าจะเปิดบริการช่วงกลางปี 2562 จะทำให้สถาบันราชานุกูล เป็นศูนย์พัฒนาวิชาการของไทยและภูมิภาคอาเซียนในด้านการดูแลผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาที่สมบูรณ์แบบ ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟู
ทางด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กทม.กล่าวว่า แผนพัฒนาในปี 2562-2563 ในด้านระบบบริการ จะเพิ่มเครื่องกระตุ้นระบบประสาทด้วยสนามแม่เหล็กชนิดความถี่สูง ชุดตรวจประเมินระบบประสาทสัมผัสด้วยตนตรีบำบัด ชุดอุปกรณ์บูรณาการทำงานของระบบประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว ห้องกระตุ้นพัฒนาการ ชุดกระตุ้นประสาทสัมผัสด้วยเทคนิคสนูซีเลน ( Snoezelen) และชุดศึกษาพฤติกรรมเด็กพิเศษ รวมทั้งหมดเกือบ 40 ล้านบาท ส่วนด้านวิชาการจะวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มไอคิวเด็กและพัฒนาด้านทักษะทางอารมณ์และสังคมในกลุ่มเด็กปฐมวัย ส่วนกลุ่มเด็กวัยเรียน จะพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนพ่อแม่เพื่อเพิ่มไอคิว อีคิว และลดปัญหาสมาธิสั้นด้วย
แพทย์หญิงมธุรดากล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้สถาบันฯให้บริการตรวจรักษาเด็กป่วยทางจิตเวชทุกโรคในลักษณะของโรงพยาบาลกลางวัน ในรอบ 9 เดือนปีงบประมาณ 2561 มีผู้ป่วยใช้บริการเฉลี่ยเดือนละ 4,500 ครั้ง แนวโน้มเพิ่มขึ้น โรคที่พบมากอันดับ1ได้แก่ออทิสติกร้อยละ33 รองลงมาคือภาวะบกพร่องทางสติปัญญา และพัฒนาการล่าช้า ร้อยละ 20 เท่ากัน ความผิดปกติทางทันตกรรม ร้อยละ 12 และสมาธิสั้นร้อยละ 9
ทั้งนี้ในการดูแลเด็กที่มีความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด เช่นเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม ซึ่งนอกจากพัฒนาการล่าช้าที่พบทุกรายแล้ว เกือบร้อยละ 100 จะมีปัญหาน้ำลายไหล การดูดกลืนไม่ดี เนื่องจากการควบคุมกล้ามเนื้อไม่ดี จะต้องได้รับการช่วยเหลือให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร โดยฝึกสอนพ่อแม่ให้นวดลิ้น นวดกล้ามเนื้อรอบปากตั้งแต่เด็กแรกเกิด จะช่วยลดปัญหานี้ ได้ผลดีกว่าฝึกตอนโต และมีระบบการเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามคุณภาพชีวิตของครอบครัวด้วย ***** 25 กันยายน 2561