กรมสุขภาพจิตชี้'หนี้สิน'กระตุ้นชาวนาฆ่าตัวตาย

 รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

      กรมสุขภาพจิต วิเคราะห์สาเหตุการฆ่าตัวตายของชาวนาไทยจากพิษจำนำข้าว พบ "หนี้สิน" เป็นตัวกระตุ้น แนะคนใกล้ชิดรับฟังปัญหา สังเกตสัญญาณบ่งชี้-รู้สึกเครียดต้องปรึกษาเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หากถึงขั้นพูดเรื่อง "อยากตาย" ต้องรีบพารักษา เผยชาวนาชุมนุมที่กระทรวงพาณิชย์ส่วนใหญ่เครียดน้อย มี 9 รายเสี่ยงซึมเศร้า
       พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า หลังจากพบปัญหาชาวนาฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิตได้สำรวจและวิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตในผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ จำนวน 9 ราย เป็นชาย 6 ราย หญิง 3 ราย ส่วนใหญ่อายุ 40-50 ปี รองลงมา อายุ 60 ปีขึ้นไป และอายุ 50-60 ปี  วิธีการฆ่าตัวตายเป็นการผูกคอตาย และการกินยาฆ่าแมลง
 ทั้งนี้ พบสาเหตุว่ามีปัญหาสุขภาพทางกาย มีโรคเรื้อรัง ปัญหาสุขภาพจิต ภาระความรับผิดชอบที่ต้องเป็นคนแบกรับมาก่อน ส่วนปัจจัยกระตุ้นที่พบ ได้แก่ ตึงเครียดจากหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นแรงกดดันค่อนข้างมาก
       นอกจากนี้ พบว่ากลุ่มชาวนาที่ชุมนุมที่กระทรวงพาณิชย์ ส่วนใหญ่มีความเครียดน้อย แต่พบ 9 รายเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และได้ส่งต่อข้อมูลกลุ่มเสี่ยงให้แกนนำและทีมแพทย์ที่ประจำอยู่ในจุดเพื่อดูแลช่วยเหลือ
 "ปัจจัยร่วมของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ คือ จิตใจเครียดง่าย ซึมเศร้า มีแรงกดดันเพิ่มขึ้น ภาระในครอบครัว ภาระจากการเป็นผู้นำ โดยหนี้สินเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ หนี้สินเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย และทั้ง 9 รายมีการส่งสัญญาณก่อนการฆ่าตัวตายที่ชัดเจน ทั้งการบ่นว่าเครียด รู้สึกไม่ไหว รู้สึกจัดการกับภาระของตัวเองไม่ได้ จนถึงพูดตรงๆ เรื่องฆ่าตัวตาย"
        รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการป้องกันการเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงจะฆ่าตัวตายเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งขณะนี้ในระบบสาธารณสุขระดับหมู่บ้านมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เป็นประชาชนซึ่งใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมายและสามารถเข้าถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น กลุ่มชาวนาที่มีภาวะหนี้และมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เจ็บป่วยโรคเรื้อรัง มีภาวะด้านจิตใจ มีภาระอื่นในครอบครัว หรือเป็นหัวหน้ากลุ่มชาวนามีภาระต้องรับผิดชอบอยู่  "ถ้าเข้าถึงกลุ่มนี้ได้แล้วประเมินในเรื่องของความเครียดเบื้องต้น จากนั้นจะประเมินภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย หากพบว่ามีแนวโน้มใน 2 ข้อหลัง จะมีการส่งทีมเจ้าหน้าที่สุขภาพจิตติดตามต่อเนื่องเป็นระยะ ส่วนกลุ่มเสี่ยงทั่วไปก็จะเฝ้าระวัง โดยการพูดคุยกับญาติ"
        ทั้งนี้มีข้อสังเกต คือ บ่นเครียดเรื่องหนี้สินแล้วเปลี่ยนท่าทีไปเป็นพูดจาน้อยลง หรือปรับเป็นเหมือนปกติมากขึ้น สบายใจก็ต้องระวัง เพราะเป็นเหมือนการตัดสินใจอะไรบางอย่างได้ ทั้งที่ปัญหายังคงมีอยู่ หรือ บ่นไม่สบายใจมาก คนใกล้ชิดต้องพยายามให้กำลังใจ แต่หากถึงขั้นพูดถึงหรือปรึกษาวิธีการฆ่าตัวตาย ควรเข้ารับการรักษาเนื่องจากการดูแลในระบบครอบครัวอาจไม่ทันเหตุการณ์
        "บุคคลนั้นมีความคิดดำดิ่งลงไปแล้ว เมื่อเข้าสู่การรักษาจะสามารถส่งต่อตามระบบได้ จนถึงทีมสุขภาพจิตที่มีอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ทุกแห่งสามารถดูแลได้อย่างทันท่วงที ถ้ามีเรื่องซับซ้อนขึ้นก็จะปรึกษาทีมสุขภาพจิตของกรมตามลำดับ"
         รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวด้วยว่า หากญาติหรือคนใกล้ชิดสังเกตเห็นสัญญาณก่อนที่จะมีการฆ่าตัวตาย ควรดำเนินการ 3 เรื่องสำคัญ คือ
 1.รับฟัง แม้บางคนไม่ชอบฟังเรื่องท้อแท้ ไม่สู้ของคนในครอบครัว แต่ต้องรับฟังอย่างน้อยช่วยให้ได้ระบาย คนในครอบครัวต้องช่วยกันดูแล ให้ความใกล้ชิด คนในครอบครัวจะเข้าใจที่สุด เป็นส่วนช่วยผ่านวิกฤติ
 2.ดึงเขาออกมาสู่กิจกรรมอื่น เป็นการช่วยดึงออกจากปัญหาด้วยการเข้ารวมกลุ่มเพื่อทำอะไรร่วมกัน
 3.ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือคนใกล้บ้านให้เป็นการร่วมมือกันในการดูแล หากผ่านไป 2-3 วันไม่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ควรเข้าสู่กระบวนการการเข้ารับคำปรึกษาเพื่อเข้าสู่การแก้ไขปัญหา เนื่องจากธรรมชาติของความคิดจะค่อยๆ สะสมมา  "เมื่อเกิดความคิดเรื่องฆ่าตัวตายจะมีเวลาอีกระยะหนึ่งในการตัดสินใจ เป็นเหมือนเวลาทองในการช่วยเหลือ แต่ถ้าตัดสินใจที่ค่อนข้างมั่นคงแล้วต้องเข้ารับการรักษาอย่างเดียวเพียงพูดให้กำลังใจอย่างเดียวไม่สามารถช่วยได้แล้ว จึงอยากให้มีการเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด เพราะบางครั้งจะนึกไม่ถึง"
       พญ.พรรณพิมล  กล่าวด้วยว่า ส่วนชาวนาที่รู้สึกว่าตัวเองมีความเครียด จน และภาระกดดันทางจิตใจสามารถเข้ารับบริการรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้าน  หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
       ทั้งนี้ในระบบชุมชนก็มีความสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องนี้  โดยมีการรวมกลุ่มกันเพื่อหาทางเลือกในการแก้ปัญหาแทนการรอรับเงินเพียงอย่างเดียว เช่น บางพื้นที่กลุ่มเกษตรกับโรงสีมีการจัดการบางอย่าง เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่ให้สถานการณ์ไปส่งผลมากยิ่งขึ้น
        องค์การอนามัยโลกทำการศึกษาว่า ถ้ามีข่าวฆ่าตัวตายเกิดขึ้น จะมีรูปแบบวิธีการตามมาในกลุ่มที่มีความเสี่ยง ปัญหาและความคิดฆ่าตัวตายอยู่แล้วมีโอกาสสูงในการเลือกใช้วิธีการตามที่เป็นข่าว
 "จากกรณีที่ชาวนาฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้น ก็พบว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน เช่น กลางเดือนม.ค. 1 ช่วง และต้นถึงกลางเดือนก.พ. อีก 1 ช่วง เพราะว่าการปรากฏของข่าวทำให้กลุ่มเสี่ยงอยู่แล้วเกิดความรู้สึกว่าเป็นวิธีทางออกที่คนอื่นก็ทำ เสริมวิธีคิดเดิมของเขาและเป็นแนวทางที่ได้ผล"
         พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สถานการณ์การฆ่าตัวตายโดยภาพรวมของคนไทย ล่าสุดเมื่อเดือนธ.ค. 2556 อยู่ในระดับคงที่ คือ ประมาณ 6 ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยอยู่ในระดับสูงกว่า 7 ช่วงหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงอยู่ที่ระดับ 6 แต่อาจจะต้องประเมินอีกครั้งหนึ่ง หลังจากผ่าน 3 เดือนแรกของปี 2557
 ปัจจัยสำคัญ เป็นเรื่องของเศรษฐกิจและความขัดแย้งกับคนใกล้ชิด ทั้งนี้ ตามปกติกลุ่มชาวนาจัดอยู่ในกลุ่มเกษตรกรที่ต้องเฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติ

กรุงเทพธุรกิจ


  View : 5.25K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,112
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 7,779
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 44,496
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 837,147
  Your IP : 52.15.185.147