กรมสุขภาพจิตเผยผลการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชในรอบ 26 ปี พบในภาพรวมเข้าถึงการรักษาฟื้นฟูแล้วร้อยละ 48 เร่งเดินเครื่อง 2 เรื่องใหญ่ตั้งแต่ปี 2561เป็นต้นไป คือ การปรับโฉมการให้บริการของรพ.จิตเวชทุกแห่ง เน้นบรรยากาศเป็นมิตรให้เกียรติผู้ป่วย ดูแลครบวงจรเสมือนเป็นลูกคนเดียวของครอบครัวเห็นผลใน 3 เดือนนี้ และจัดทำทศวรรษเพิ่มการเข้าถึงการรักษาเด็กโรคสมาธิสั้น ซึ่งขณะนี้เข้าถึงเพียงร้อยละ 10.55 จะเพิ่มให้ได้ร้อยละ 75 ใน 10 ปี ชี้เด็กกลุ่มนี้รักษาได้ มีโอกาสหายถึง 2 ใน 3 แต่หากไม่ได้รับการรักษาจะเสี่ยงสูงเป็นเด็กมีปัญหาเกเรก้าวร้าว เสี่ยงก่ออาชญากรรม
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิตประกอบพิธีเนื่องในวันครบรอบ 26 ปีการสถาปนากรมสุขภาพจิต ที่กรมสุขภาพจิต จ.นนทบุรี เมื่อเช้าวันนี้ (9 เม.ย.2561) ว่า การจัดระบบบริการสุขภาพจิตของประเทศที่ผ่านมา พบว่า มีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ ผลสำรวจด้านระบาดวิทยาโรคจิตเวชและปัญหาสุขภาพจิตระดับชาติครั้งล่าสุดในพ.ศ.2556 พบประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป มีอัตราป่วยเป็นโรคจิตเวชและมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 13.9 หรือมีจำนวน 7,157,405 คนทั่วประเทศ ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้เร่งเพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาล(รพ.)ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้สามารถรักษาพยาบาลผู้ป่วยใกล้บ้าน จนถึงปี 2560 มีผู้ป่วยทุกโรคได้รับการรักษาทั้งประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในร้อยละ 48 สาเหตุที่ประชาชนเข้าถึงน้อยกว่าโรคทางกาย เนื่องจากผู้ป่วยมักถูกสังคมตีตรา ประณามว่า เป็นคนบ้า เป็นคนเสียสติ ไม่กล้าเข้ารักษาในรพ.จิตเวช ทั้งๆที่โรคทางจิตเวชเป็นโรคที่รักษาได้จนหายขาดหรือมีอาการทุเลาขึ้น สามารถใช้ชีวิตในสังคม ทำงาน มีอาชีพได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาระบบบริการ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะเน้นหนัก 2 เรื่องใหญ่ ประการแรก คือ การพลิกโฉมบริการใหม่ของรพ.จิตเวชทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มี 20 แห่งทั่วประเทศ โดยเน้นให้ทุกแห่ง จัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นมิตร ลดการสร้างตราบาปผู้ป่วย มีอาคารสถานที่สะอาด ทุกจุดบริการมีบรรยากาศอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน ให้ผู้ป่วยและญาติรู้สึกผ่อนคลาย ขั้นตอนการให้บริการไม่ซับซ้อน เคารพและให้เกียรติผู้ป่วย โดยให้เห็นผล ประชาชนสัมผัสได้จริงภายใน 3 เดือน และให้การรักษาอย่างครบวงจร คือ รักษาด้วยยา หรือด้วยไฟฟ้า และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยทั้งด้านกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นหัวใจของการรักษาผู้ป่วยจิตเวช ดูแลเสมือนเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายหรือทุเลาได้เร็วขึ้น เพื่อคืนคุณค่าและศักดิ์ศรีให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ร่วมกับชุมชน
ประการที่ 2 คือ การเพิ่มการเข้าถึงบริการเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactive Disorder) หรือที่เรียกว่าโรคไฮเปอร์ ซึ่งขณะนี้พบในเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีได้ร้อยละ 5.4 คาดมีเด็กป่วย 437,136 คนประเทศ แต่ยังเข้าถึงบริการรักษาน้อยมาก ข้อมูลในปี 2560 มีเพียงร้อยละ 10.55 โรคนี้พบอาการตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน เด็กจะขาดสมาธิ ซนอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ผู้ปกครองมักเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กดื้อเด็กซนปกติทั่วไป คิดว่าเมื่อเด็กโตขึ้น จะหายได้เอง จึงไม่พาเข้ารับการรักษา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเรียนและเกิดโรคทางอารมณ์และพฤติกรรมสูงกว่าเด็กทั่วไป เสี่ยงก่อปัญหาสังคมโดยเฉพาะปัญหาความรุนแรง อาชญากรรม และยาเสพติดเมื่อโตขึ้น โดยกรมสุขภาพจิต มีนโยบายจัดทำทศวรรษการเข้าถึงการรักษาของเด็กโรคสมาธิสั้น ตั้งเป้าภายใน 10 ปี จะเพิ่มให้ได้ร้อยละ 75
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า ได้ตั้งคณะทำงาน 1 ชุด มีนายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตเป็นประธาน เพื่อจัดทำแผนดำเนินการต่างๆ ทั้งด้านการพัฒนาระบบการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาเด็กที่มีความผิดปกติได้ง่ายขึ้น ความร่วมมือกับโรงเรียน การอบรมกุมารแพทย์และจิตแพทย์ผู้ใหญ่ทั่วประเทศ ให้สามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคนี้ได้ด้วย ซึ่งโรคนี้มียารักษาควบคุมอาการได้ จากสถิติที่ผ่านมา พบว่า เด็กสมาธิสั้นเมื่อได้รับการรักษา ประมาณ 2 ใ น 3 อาการจะหายหรือดีขึ้น สามารถเรียนหนังสือและทำงานได้เหมือนคนทั่วไป
************************************* 9 เม.ย. 2561