สังคมเปราะบางยิ่งต้องทำให้ลูกเข้มแข็ง

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
       ต้องยอมรับว่า สภาพสังคมที่เต็มไปด้วยสภาพปัญหา สภาพครอบครัวก็อ่อนแอ มันส่งผลให้สภาพจิตใจของผู้คนที่นับวันมันเปราะบางได้ง่าย
ปัจจุบันผู้คนในสังคมมีปัญหาเรื่องภาวะความเครียด โรคซึมเศร้า ฯลฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการขาดทักษะชีวิตในการรับมือกับปัญหาหรือจัดการกับความเครียด ทำให้คิดถึงกรณีของเพื่อนรอบข้าง
     เพื่อนคนหนึ่งเคยเรียนด้วยกันมา พื้นฐานเป็นเด็กเรียบร้อยเชื่อฟังพ่อแม่และค่อนข้างหัวอ่อน เธอถูกขีดเส้นชีวิตให้เดินตามวิถีของครอบครัวมาโดยตลอด ซึ่งเธอก็ดำเนินตามรอยแม้จะฝืนใจก็ตาม รวมไปถึงเรื่องชีวิตคู่ และสุดท้ายชีวิตคู่ก็ไปไม่รอด และเธอไม่สามารถรับมือได้ ขณะที่คนในครอบครัวก็ขาดความเข้าใจ ยิ่งต่อว่าต่อขานและกลายเป็นปัญหาใหญ่ จนเธอกลายเป็นคนมีอาการซึมเศร้า จากทีละน้อยจนมากขึ้นเรื่อย ๆ แยกตัวออกจากสังคม ทำให้ปัญหายิ่งบานปลาย ถึงขนาดพยายามหาทางฆ่าตัวตาย และท้ายที่สุดครอบครัวต้องพาเธอไปรักษาอาการทางจิตในโรงพยาบาล
     กรณีที่สอง เป็นเพื่อนรุ่นพี่ เธอเป็นเด็กต่างจังหวัดที่มาเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ เธอเป็นคนร่าเริงแจ่มใส เป็นคนเรียนดีและเล่นกีฬา แต่แล้วชีวิตเธอก็พลิกผัน เมื่อเธอผิดหวังจากคนรัก เธอเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เธอเริ่มแยกตัวออกจากสังคม เก็บตัวอยู่คนเดียว คนในครอบครัวก็ไม่รู้ปัญหา จนกระทั่งเธอกินยาเกินขนาดหวังฆ่าตัวตาย จึงทำให้คนในครอบครัวรับรู้ เธอต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปีในการรักษา และบำบัดจากโรคซึมเศร้า ปัจจุบันแม้จะดีขึ้นแต่ก็ต้องมีคนอยู่ด้วยตลอดเวลา
     ทั้งสองกรณีเป็นเพียงตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า การรับมือกับวิกฤติทางใจ หรือการจัดการกับความเครียดเป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ของผู้คนในสังคมเพิ่มมากขึ้น ยิ่งจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น คนใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้คนยุคนี้กลับโดดเดี่ยวและมีอาการซึมเศร้ามากขึ้นเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยเติบโตขึ้นมาโดยขาดทักษะชีวิตในการจัดการชีวิตเมื่อเกิดภาวะความเครียด อันเนื่องมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม
     ยุคนี้เราให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนวิชาการ การแข่งขัน ยุคที่เราเน้น IQ มากกว่า EQ ให้ความสำคัญในเรื่องของรูปร่างภายนอก หรือภาพลักษณ์มากกว่าคุณค่าจากด้านใน ฯลฯ หรือแม้แต่ความรักของพ่อแม่ที่คอยประคบประหงม ตามใจลูก ไม่อยากให้ลูกลำบาก คิดและตัดสินใจให้ลูก ด้วยเหตุผลว่ารักลูก ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำร้ายลูก ทำให้ลูกขาดทักษะการสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง หรือสามารถจัดการปัญหาเมื่อเกิดความผิดหวังในชีวิตได้ ที่จริงสิ่งเหล่านี้ควรสร้างเป็นวัคซีนใจ หรือภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ที่พ่อแม่สามารถปลูกฝังลูกได้ตั้งแต่เล็ก
หนึ่ง ฝึกให้ลูกผิดหวัง
    ความผิดหวังเป็นบทเรียนที่ดีที่ทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่า ทุกคนมีทั้งความสมหวังและผิดหวัง ประเด็นอยู่ที่ว่าเมื่อผิดหวังแล้วเราจะทำอย่างไร จึงจะผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นได้ และสามารถแปรเป็นพลังให้สามารถลุกขึ้นได้ใหม่ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ หรือสร้างวัคซีนใจให้กับลูกอย่างรอบด้าน ยิ่งสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันสูงในทุก ๆ ด้าน จำเป็นที่ต้องให้เด็กได้เรียนรู้ชีวิตอย่างรอบด้าน สอนให้ลูกรู้จักยอมรับสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล และต้องให้รู้จักผิดหวังเป็น
สอง สร้างกำลังใจเสมอ
     กำลังใจและคำพูดด้านบวกมีพลังเสมอที่จะช่วยให้จิตใจของลูกเข้มแข็ง การสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ควรสนับสนุนให้ลูกเห็นว่าคุณค่าจากจิตใจด้านใน ให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตผ่านความผิดหวังของผู้คนจากข้อมูลข่าวสารบ้าง และเขาเหล่านั้นสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้หรือผ่านพ้นวิกฤตทางใจเหล่านั้นด้วยได้อย่างไร
สาม ชีวิตต้องมีอุปสรรคบ้าง
    ชีวิตมีหลายด้านที่ต้องเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือเก่งเท่านั้นที่จะได้การยอมรับ แต่เก่งทางด้านอื่น หรือถนัดในด้านอื่นก็ได้รับการยอมรับเช่นกัน และทุกช่วงชีวิตของ    มนุษย์ล้วนแล้วต้องมีอุปสรรคทั้งสิ้น อยู่ที่มากน้อย และทัศนคติต่อการใช้ชีวิตว่าพร้อมที่จะเผชิญอุปสรรคเสมอ
สี่ ทุกเรื่องยืดหยุ่นได้
    ความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตที่ต้องสร้างให้ลูก ๆ มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ เพราะเมื่อมีสีขาวก็มีสีดำ หากไม่ขาวหรือดำ ก็ยังมีสีอื่น ๆ อีกมากมาย และเมื่อผิดหวังก็มีสมหวัง ถ้าผิดหวังวันนี้ก็อาจสมหวังได้ในวันหน้า หรือสมหวังในวันนี้ ในวันหน้าก็ผิดหวังได้เช่นกัน ควรทำให้เขาเรียนรู้ว่าทุกเรื่องมีทางออกเสมอ ต้องไม่ยึดติดหรือ
     คิดว่าชีวิตหมดหนทาง
  แต่ถึงแม้พ่อแม่จะพยายามปลูกฝังทักษะชีวิตให้ลูกเข้มแข็ง ยามเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะสามารถรับมือได้ดี เพราะปัญหาชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน รายละเอียดของชีวิตและจิตใจก็เข้มแข็งเปราะบางแตกต่างกัน อาจจะรับมือได้มากหรือน้อยแตกต่างกันไปฉะนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ลูกผิดหวังรุนแรง บทบาทของพ่อแม่ที่ควรมี
       หนึ่ง สังเกตความเปลี่ยนแปลง
ถ้าพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อมีเรื่องไม่สบายใจ สิ่งเหล่านี้เป็นอาการภายนอกที่สามารถพบเห็นได้ และหากผู้ใกล้ชิดสังเกตแล้วรีบหาทางแก้ไข ก็จะทำให้มีโอกาสรับมือได้อย่างทันท่วงที แต่หากปล่อยอาการเหล่านี้ทิ้งไว้ หรือไม่ตระหนักต่อปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ โอกาสที่จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นก็เป็นได้
       สอง อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว
เมื่อลูกตกอยู่ในสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ หรือประสบภาวะผิดหวัง พ่อแม่หรือคนในบ้านต้องไม่ปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว อยู่เป็นเพื่อนแบบห่วงแบบห่าง ๆ ก็ได้ แต่ต้องแสดงให้เขารู้ว่าเรารักและห่วงเขาเสมอ และพร้อมจะยืนเคียงข้างเขาทุกเมื่อ
       สาม ชวนทำกิจกรรมด้วยกัน
ชวนทำกิจกรรมอื่น ๆ อย่าปล่อยให้จมปลักกับความผิดหวังในขณะนั้น สร้างบรรยากาศของการไปนอกบ้าน ไปสถานที่ที่เขาชอบ หรือให้หลุดจากสถานที่ที่อาจทำให้กระทบกระเทือนทางใจ
       สี่ สร้างกำลังใจและให้เห็นคุณค่าของตัวเอง
คำพูดด้านบวกสำคัญยิ่งสำหรับสภาวะจิตใจที่อ่อนแอ ต้องหลีกเลี่ยงคำพูดซ้ำเติมหรือด้านลบ หรือแสดงความคิดเห็นในเชิงลบต่อปัญหาหรือผู้อื่น พยายามใช้คำพูดด้านบวกและชี้ให้ลูกเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง ทุกคนล้วนมีปัญหาแต่ต่างกันตรงที่จะแก้ปัญหาแบบมีสติได้อย่างไร
     แต่ไม่ว่าจะสอนลูกอย่างไร เหนือสิ่งอื่นใดคือตัวพ่อแม่ต้องเข้าใจชีวิตอย่างรอบด้าน และไม่เป็นส่วนหนึ่งของการกดดันชีวิตลูก ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ต้องมีพื้นที่สำหรับการผ่อนคลาย การพูดคุยและการให้เวลาในครอบครัว เพื่อพูดคุยสิ่งต่าง ๆ ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ
     ปัจจุบันแนวโน้มปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสังคมที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว อย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัวนะคะ เพราะสภาพปัญหาในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่เราคิดมากมาย สื่อที่เราเสพอยู่ทุกวันเป็นปัญหาใหญ่ที่พ่อแม่ต้องระมัดระวัง ในขณะเดียวกันเกมคอมพิวเตอร์ก็เข้ามามีบทบาทกับลูกหลานของเรามากขึ้น แต่ทักษะการใช้ชีวิตของเด็กกลับอ่อนแอลง
        ท่ามกลางสังคมที่เปราะบาง ยิ่งต้องสร้างความเข้มแข็งทางใจให้ลูกค่ะ
 
เว็บไซต์ผู้จัดการ เรื่องโดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
 

สังคมเปราะบางยิ่งต้องทำให้ลูกเข้มเเข็ง.pdf

  View : 2.67K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.22.181.81