นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การติดสารเสพติดเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่เกิดขึ้น ทีละน้อย จากการใช้ยาเป็นครั้งคราวสู่การใช้ถี่ขึ้น จนใช้ทุกวัน วันละหลายครั้ง ซึ่งเมื่อใช้บ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จะนำไป สู่ภาวะ "สมองติดยา" โดยสารในตัวยาจะเข้าไปทำลายสมองส่วนคิด ทำให้การใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเสียไป สมองส่วนอยาก จึงเข้ามามีอิทธิพลเหนือสมองส่วนคิด โดยเฉพาะช่วงอยากสารเสพติด ทำให้ผู้เสพติดทำอะไรตามใจตามอารมณ์มากกว่าเหตุผล ผู้ที่ใช้สารเสพติดจึงมักแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา เช่น อารมณ์ก้าวร้าว หงุดหงิด ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ขาดความยับยั้งชั่งใจ นำไปสู่ความรุนแรงในสังคมที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ และหากติดตามผู้ป่วยที่ติดสารเสพติดไปนานๆ จะพบว่า ส่วนใหญ่มักมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย เช่น เป็นโรคจิตหวาดระแวง ประสาทหลอนเรื้อรัง มีภาวะสมองเสื่อม ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยทางจิต ที่อยู่ระหว่างการรักษา แล้วไปกินเหล้า สูบบุหรี่ เสพยาบ้า หรือ กัญชา ซึ่งเป็นข้อห้ามสำคัญที่ไม่ควรทำในระหว่างการรักษา ที่นอกจากจะทำให้ผลการรักษาไม่ดีแล้ว ยังทำให้การกำเริบของโรคเร็วขึ้น เพราะสารเสพติดเหล่านี้ จะไปมีปฏิกิริยากับยาที่รักษาอยู่ ทำให้ยาหมดฤทธิ์ ไม่เพียงพอในการควบคุมอาการ อาการจึงกำเริบขึ้น นำไปสู่ความรุนแรงในสังคมเช่นเดียวกัน จึงต้องได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างทันท่วงที การไม่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิด จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 หากพบบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตที่มีภาวะเป็นอันตราย หรือ มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนำส่งบุคคลดังกล่าวไปยังโรงพยาบาลหรือสถานบำบัดรักษาได้ เพื่อผลดีต่อตัวของเขาเอง ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันความปลอดภัยให้กับสังคมอีกด้วย ส่วนกรณีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้น ณ จ.บึงกาฬ เบื้องต้น ทีม MCATT รพ.ศรีวิลัย รพ.บึงกาฬ ร่วมกับแกนนำชุมชน ลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิต พูดคุยและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตครอบครัวผู้เสียชีวิตและคนในชุมชนแล้ว
ทั้งนี้ จากรายงานของระบบติดตามและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด รายงานการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่มีอาการทางจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2556-2558) มีผู้เข้ารับการรักษาใน รพ.สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ เกือบ 4 พันรายต่อปี ปี 2556 จำนวน 3912 ราย ปี 2557 จำนวน 3980 ราย และ ปี 2558 จำนวน 3800 ราย อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า โรคจิตอันเนื่องมาจากการใช้สารเสพติดนั้น เกิดจากผู้เสพมีการใช้สารเสพติดมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงชนิดและความถี่ของการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "แอมเฟตามีนและสารระเหย" ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง ทำให้เกิดอาการจิตประสาทหลอนได้ง่าย โดยผู้เสพจะมีอาการ หลงผิด หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน ซึ่งจะเป็นอยู่ครั้งคราวเมื่อมีการใช้สารเสพติดนั้น และหากมีการใช้เป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดอาการทางจิตอย่างถาวรได้ ซึ่งอาการจะคล้ายกับผู้ป่วย "โรคจิตเภท" คือนอกจาก หวาดระแวง มีหูแว่ว หลงผิด แล้วยังไม่สามารถรับรู้โลกความเป็นจริง มีความบกพร่อง ขาดการดูแลตนเองการดำรงชีวิตประจำวันอีกด้วย ทั้งนี้ "แนวทางสังเกตผู้ป่วยติดยาก่อนก่อเหตุรุนแรง" คือ "ชอบแยกตัว ไม่สุงสิงพูดจากับใคร หงุดหงิดง่าย พูดเสียงดัง โมโหง่าย บางรายมีอาการกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง บ่นพึมพำคนเดียว ประสาทหลอน ตลอดจนอาจมีอาการมาก เช่น เตรียมสะสมอาวุธ พูดบ่นคนเดียวว่าจะมีคนมาทำร้าย ระแวง กลัว หรือพูดบ่นจะทำร้ายผู้อื่น" หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยเร็วเพื่อให้รับการดูแลช่วยเหลือป้องกันการเกิดความรุนแรงจากอาการทางจิตจากการใช้สารเสพติดต่อไป สำหรับวิธีการรักษา นั้น จะต้องรักษาควบคู่กันทั้งอาการทางจิตและการบำบัดเพื่อป้องกันการกลับไปเสพสารเสพติด รวมถึง ความร่วมมือจากครอบครัว ญาติและสังคมเพื่อการให้โอกาสและกำลังใจ ไม่ควรพูดตำหนิ หรือดูถูก ควรให้เวลาและให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของการบำบัดอีกด้วย
**************************** 15 มิ.ย.2559