ผลิตและเผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2557 นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมชี้แจงโครงการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง ในการนี้ นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้บรรยายเรื่องแนวทางการดำเนินงานสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น
หลังจากนั้นแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล ชี้แจงโครงการและแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยฯ , การชี้แจงแบบประเมิน เครื่องมือ และการลงบันทึกข้อมูลในพื้นที่ โดยแพทย์หญิงวรวรรณ จงสง่าวิทยาเลิศ กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน โดยแพทย์หญิงนพวรรณ ศรีวงค์พานิช รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในเครือข่ายบริการสาธารณสุข พร้อมด้วยทีมพยาบาลจากกลุ่มพัฒนาความเป็นเลิศ และ กลุ่มพัฒนาเครือข่าย สถาบันราชานุกูล ให้คำปรึกษาในการทำกิจกรรม
กิจกรรมการประชุมวันนี้ (11มี.ค.57) เริ่มต้นด้วยการเสวนาในหัวข้อ ประสบการณ์การทำงานในศูนย์เด็กเล็กให้มีคุณภาพ โดย ผู้แทนศูนย์เด็กเล็ก โดย ว่าที่ร้อยตรีอภิชาติ จอมงาม รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบาลเจดีย์แม่ครัว , นางเหรียญทอง อินต๊ะพิงค์ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเทศบาลตำบลเจดีย์แม่ครัว และ นายวิรัช ทัพมาลัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเจดีย์แม่ครัว จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดยแพทย์หญิงเลิศสิริ ราชเดิม หัวหน้ากลุ่มพัฒนาเครือข่าย สถาบันราชานุกูล
ปิดท้ายด้วยการนำเสนอกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานและอภิปรายข้อซักถาม
วัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมชี้แจงโครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด คือ เพื่อพัฒนาต้นแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด 23 จังหวัด นำไปสู่การมีระบบข้อมูลการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด 23 จังหวัด และเพื่อเป็นการพัฒนานวัตกรรม/เทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่สำคัญคื เป็นการพัฒนาศักยภาพองค์กรและบุคลากรของหน่วยงานในระดับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลท้องถิ่น (รพท.) ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีต่อระบบและงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย (เด็กแรกเกิดถึง 5 ปี) ได้แก่ ครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก ครูพี่เลี้ยง พยาบาล/เจ้าหน้าที่สาธารณสุข/บุคลากรสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขเข้าร่วมประชุม จำนวนทั้งสิ้น 300 คน