กรมสุขภาพจิต เผยผลการติดตามผลงานบริการจิตเวชประชาชนในรอบ 6 เดือน ปีงบประมาณ 2561 พบว่าบรรลุตัวชี้วัด อาทิ ผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรงไม่ทำร้ายตนเองหรือคนอื่นภายใน 1 ปี ร้อยละ 99.43 พร้อมทั้งเร่งเดินหน้าสร้างความปลอดภัยสังคมโดยจะร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมตรวจคัดกรองสุขภาพจิตกลุ่มคนเร่ร่อน เพื่อนำเข้าบำบัดรักษาตามกฎมายสุขภาพจิต พ.ศ.2551 และเร่งจัดทำแผนดูแลสุขภาพจิตประชาชนในเขตสุขภาพพิเศษ 4 กลุ่ม
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารกรมสุขภาพจิตประจำเดือนเมษายน 2561 ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม เมื่อเช้าวันนี้ (27 เมษายน 2561) ว่า วันนี้ได้ติดตามความคืบหน้าในเรื่องของการดำเนินงานของกรมสุขภาพจิตในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งมีทั้งหมด 17 ตัวชี้วัด พบว่า เป็นไปตามเป้าหมาย ด้านของงบประมาณมีการใช้ไปแล้วร้อยละ 58 สูงกว่าเป้าที่ตั้งคือร้อยละ55 จากงบที่ได้รับการจัดสรรวงเงินประมาณ 3,158 ล้านกว่าบาท ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากเงินงบประมาณอย่างเต็มที่
ในส่วนของการดูแลรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะใน 4 กลุ่มหลักที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่พบบ่อยแต่การเข้าถึงบริการที่ผ่านมายังน้อย ได้แก่ ผู้ป่วยจิตเภท ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เด็กโรคสมาธิสิ้น เด็กโรคออทิสติก พบว่าการเข้าถึงบริการในเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต ดีขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยจิตเภทตั้งเป้าการเข้าถึงต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ70 ผลดำเนินการได้ร้อยละ 76 โรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการสะสมร้อยละ 56 เด็กออทิสติกเข้าถีงร้อยละ 44 โรคสมาธิสั้นเข้าถึงร้อยละ 13 รวมทั้งประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในรายที่อาการรุนแรง ยุ่งยากซับซ้อน เช่นในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรงทั้งต่อตัวเองและคนอื่น ซึ่งมีประมาณร้อยละ 15 ของผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด จากการติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดรักษาจากโรงพยาบาลจิตเวชทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศซึ่งเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านจิตเวช พบว่า ได้ผลในรอบ 1 ปี ผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดรักษาฟื้นฟูไม่กลับไปทำร้ายตนเองหรือทำร้ายคนอื่น สูงถึงร้อยละ 99.43 ส่วนผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการใช้สารเสพติด หลังครบการบำบัด ร้อยละ 99.04 ไม่หันกลับไปใช้สารเสพติดซ้ำภายใน3 เดือน โดยได้กำชับให้โรงพยาบาลจิตเวชดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยอาศัยระบบการดูแลผู้ป่วยของเครือข่ายในพื้นที่
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า ได้มอบนโยบายให้ที่ประชุมเร่งรัดดำเนินการงานเร่งด่วนสำคัญอีก 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยทางจิตเร่ร่อน ซึ่งพบว่ามีประมาณร้อยละ 15 ของบุคคลเร่ร่อนทั้งหมด ตามมตินโยบายของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา โดยกรมสุขภาพจิตจะร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตกลุ่มคนเร่ร่อนทั่วประเทศ เป็นมาตรการเชิงรุก เป็นไปตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ในการคุ้มครองความปลอดภัยสังคมจากผู้ป่วยจิตเวชและนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างปลอดภัย โดยจะดำเนินการในทุกจังหวัด ทั้งนี้ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลจิตเวช 13 แห่งและศูนย์สุขภาพจิตทั้ง 13 เขต ดำเนินการ ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันในต้นเดือนหน้านี้
เรื่องที่ 2 เป็นการจัดระบบการดูแลสุขภาพจิตในเขตสุขภาพพิเศษ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 4 กลุ่มได้แก่ กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มชายแดน ด้านสาธารณสุขทางทะเล และเขตระเบียงเศรษฐกิจใหม่ในภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรื ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งจะมีการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จะมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการรองรับ ให้ครบถ้วนทั้งด้านการป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพจิต การบำบัดฟื้นฟู สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนทั้ง 4 กลุ่ม ได้รับการดูแลสุขภาพครบถ้วนทั้งกายและใจ
************************** 27 เมษายน 2561