สถาบันราชานุกูล เผยข่าวดีเด็กออทิสติกอายุ 6-18 ปี และมีพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้านการฝึกของพ่อแม่ ผลการศึกษาพบว่า การกระซิบด้วยข้อความเชิงบวกสั้นๆ ที่หูซ้ายขณะเด็กหลับหลังเข้านอนประมาณ 20 นาที ทำเพียง 1 นาทีทุกคืนติดต่อกัน 3 เดือน ให้ผลลดพฤติกรรมต่อต้าน
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยม สถาบันราชานุกูล กทม. เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายในปี 2561 สถาบันแห่งนี้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคจิตเวชในเด็กทุกชนิด และเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการดูแลฟื้นฟูบุคคลที่พิการด้านสติปัญญา การเรียนรู้ เช่น เด็กกลุ่มอาการดาวน์ ออทิสติกในระดับอาเซียน ให้บริการควบคู่การวิจัยและพัฒนาวิชาการเพื่อใช้เป็นมาตรฐานของประเทศ ซึ่งพบว่ามีการพัฒนาที่ก้าวหน้ามากทั้งการจัดบริการรักษาด้วยยา การฝังเข็ม การฝึกทักษะ แก้ไขความพิการเด็กโดยสหวิชาชีพอย่างครบวงจร ไม่แพ้ประเทศใดในอาเซียน ให้บริการที่เป็นมิตร เด็กรู้สึกอบอุ่นใจ ไม่กลัวการรักษา และมีความก้าวหน้าด้านวิชาการการวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานการดูแลเด็ก ซึ่งต่อปีมีเด็กในกทม.และต่างจังหวัดเข้ารักษาเฉลี่ยเดือนละ 4,600 ครั้ง หรือประมาณ 50,000 ครั้งต่อปี โรค 3 อันดับแรกที่พบมากที่สุด อันดับ 1 คือโรคออทิสติกพบได้ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมาคือเด็กสติปัญญาบกพร่อง และพัฒนาการล่าช้า
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ล่าสุดนี้ในปี 2560 สถาบันราชานุกูลได้ทำการศึกษาเพื่อแก้ไขเด็กออทิสติกที่มีพฤติกรรมต่อต้านการฝึกทักษะของผู้ปกครอง ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 30 ของเด็กออทิสติกอายุต่ำกว่า 18 ปีที่มีประมาณ 82,000 คนทั่วประเทศ ทำให้ผู้ปกครองหนักใจ ท้อใจ โดยได้นำวิธีการกระซิบที่หูเด็กด้วยถ้อยคำเชิงบวกมาใช้ระหว่างที่เด็กหลับพบว่าได้ผลดีมากอย่างน่าพอใจ พฤติกรรมต่อต้านการฝึกของเด็กลดลง ส่วนผู้ปกครองมีความสุขเพิ่มขึ้น ได้ให้สถาบันฯถ่ายทอดผลการศึกษานี้เข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลเด็กออทิสติกและเผยแพร่ทางสื่อโซเซียล เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถนำไปใช้ได้เลย
ทางด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาของเด็กออทิสติกที่มารับบริการที่สถาบันฯมีหลายรูปแบบ เช่น อยู่ไม่นิ่ง ก้าวร้าว มีพฤติกรรมต่อต้านการฝึกทักษะ บางคนทำร้ายผู้ปกครอง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กขาดโอกาสเรียนรู้สิ่งจำเป็นในชีวิต ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นภาระผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองมีความเครียดสูง บางรายใช้อารมณ์และความรุนแรงกับเด็กโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้เด็กมีปัญหาพฤติกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก
แพทย์หญิงมธุรดากล่าวต่อว่า ในการศึกษาครั้งนี้ สถาบันฯดำเนินการในกลุ่มผู้ปกครองและเด็กออทิสติก อายุ 6-18 ปี จำนวน 10 คู่ โดยใช้แนวคิดพลังความคิดเชิงบวก ซึ่งสามารถชักนำให้เกิดสิ่งดีๆตามได้ โดยการใช้ข้อความที่สร้างพลังใจ พฤติกรรมดีๆหรือสิ่งที่อยากให้ลูกทำได้ สั้นๆชัดเจนเข้าใจได้ง่าย และให้ผู้ปกครองนำไปใช้กระซิบที่หูซ้ายของเด็ก หลังเด็กหลับแล้วประมาณ 20 นาที ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กอยู่ภวังค์ครึ่งหลับครึ่งตื่น คลื่นสมองของเด็กจะสงบ สมองสามารถรับรู้สิ่งที่ได้ยินได้ดี การกระซิบที่หูซ้ายจะเป็นการกระตุ้นให้สมองซีกขวาซึ่งทำงานเกี่ยวกับการแสดงออกพฤติกรรมและอารมณ์ได้รับรู้ ใช้เวลากระซิบนาน 1 นาที และใช้ข้อความเดิมซ้ำๆกระซิบทุกวันต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน ผลการศึกษาเมื่อครบ 3 เดือนเปรียบเทียบกับช่วงก่อนทำการกระซิบ พบว่าพฤติกรรมก้าวร้าวและต่อต้านการฝึกของเด็กลดลงทุกคนตั้งแต่ร้อยละ 12- 67 ส่วนผู้ปกครองทุกคนพอใจกับพฤติกรรมของลูก มีค่าคะแนนความสุขเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 17 - 53 โดยสถาบันฯจะทำการสาธิตขั้นตอนวิธีการกระซิบและนำเผยแพร่ทาง You Tube ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ เพื่อให้สถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศและผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ได้เลย ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามได้ที่สถาบันราชานุกูล หมายเลขโทรศัพท์ 02-2488900 ต่อ 70384-70385
--------------------------------------------------------------------22 เมษายน 2561