ความสุขของเด็กปฐมวัย

ความสุขของเด็กปฐมวัย

ร่วมกันสร้างสุข ลดทุกข์ พัฒนาเด็กทุกวัย เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี

พญ.นพวรรณ ศรีวงค์พานิช

นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันราชานุกูล

ความสำคัญของความสุขในเด็กปฐมวัย

   เด็กปฐมวัยเป็นช่วงที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจากประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆที่เด็กได้รับ ประสบการณ์เหล่านี้จะฝังอยู่ใน โครงสร้างพื้นฐานของสมองของเด็กซึ่งมีกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ขวบปีแรก เครือข่ายใยประสาทจะถูกสร้างขึ้น 700 เครือข่ายต่อวินาที

   ความสุขของเด็กปฐมวัยเชื่อมโยงกับพัฒนาการด้านต่างๆโดยเฉพาะพัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กซึ่งมีผลต่อความสามารถในการปรับตัวเมื่อเด็กเข้าเรียน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ได้แก่ การสร้าง ถนอมมิตรภาพ ความผูกพันใกล้ชิด การเป็นพ่อแม่ที่สามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการทำงานได้ดีและอดทนกับผู้อื่น และเป็นสมาชิกที่ก่อประโยขน์ให้กับชุมชนของตน

   การจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ในขณะที่เด็กปฐมวัยกำลังพัฒนา จึงมีความสำคัญในการทำให้เด็กมีความสุข สอดคล้องกับกระบวนการพัฒนาของสมองที่จะเป็นแบบให้และได้รับกลับคืนมา (serve and return) ของความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู เริ่มตั้งแต่วัยทารกโดยเด็กจะส่งเสียงหรือแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูก็จะอุ้ม กอด สัมผัส ส่งเสียงหรือแสดงท่าทางย้อนกลับ ให้นมเมื่อเด็กรู้สึกหิวหรือคอยดูแลเมื่อเด็กรู้สึกเปียกหรือไม่สบายตัว เมื่อเด็กโตขึ้นก็มีการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก มีเวลาคุณภาพในการอ่านหนังสือ เล่านิทาน และเล่นกับเด็ก การตอบสนองเหล่านี้จะสร้างความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดู ทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า รู้จักไว้วางใจผู้อื่น สามารถควบคุมอารมณ์ได้และสนใจเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ดี ถ้าไม่มีการตอบสนองหรือมีแต่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่เหมาะสม โครงสร้างสมองของเด็กก็จะไม่ได้รับการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็นและส่งผลต่ออารมณ์ พฤติกรรม พัฒนาการด้านสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็กต่อไป

ธรรมชาติ/การแสดงออกของความสุขในเด็กปฐมวัย

เด็กปฐมวัยที่มีความสุขจะแสดงออกถึงความพึงพอใจ อบอุ่นใจในสิ่งต่างๆที่เขาได้รับ มีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส รู้สึกสนุกสนานร่าเริงกับกิจกรรมต่างๆที่เด็กได้ทำหรือมีส่วนร่วม นอกจากนี้เด็กจะรู้จักอารมณ์ของตนเองว่าเป็นอย่างไรและสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นเด็กที่ยอมรับกฎเกณฑ์ กติกา จากการฝึกและเรียนรู้ในเรื่องระเบียบวินัย มีความมุ่งมั่น มานะ อดทนต่อการทำงาน ปรับตัวต่อปัญหาต่างๆได้ มองโลกในแง่ดีและกล้าแสดงออก

ข้อค้นพบที่น่าสนใจ/ความจริงของความสุขในวัยนั้นๆ /ความสุขกับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง

เด็กปฐมวัยที่มีความสุขจากการเลี้ยงดูด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างเหมาะสม สมองของเด็กจะมีการหลั่ง ฮอร์โมนที่สำคัญหลายตัว ได้แก่ oxytocin ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความรักและความผูกพัน (bonding and attachment) ความจำเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู และฮอร์โมนนี้จะมีผลต่อการหลั่งสาร dopamine ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบสมองของความพอใจ (Brain rewarding system) ทำให้เด็กรู้สึกมีความสุข นอกจากนี้ oxytocin ยังช่วยลดความเครียดของเด็กด้วย

จากการศึกษาพบว่าความเครียดในระดับเล็กน้อย เด็กสามารถปรับตัวได้จะส่งผลต่อพัฒนาการในด้านบวก แต่ความเครียดที่รุนแรง ได้แก่ การที่เด็กถูกทำร้ายหรือถูกทอดทิ้ง พ่อแม่ติดสารเสพติดหรือแม่เป็นโรคซึมเศร้า เป็นต้น ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมน cortisol และสาร adrenaline จะทำให้เซลประสาทถูกทำลาย เครือข่ายใยประสาทเชื่อมต่อกันได้น้อย โครงสร้างของสมองที่กำลังพัฒนาโดยเฉพาะบริเวณ Prefrontal cortex และ hippocampus มีการเปลี่ยนแปลง การควบคุมการทำงานของสมองผิดปกติส่งผลให้เกิดภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ ได้แก่ ทักษะด้านภาษา สติปัญญา สังคมและอารมณ์ และยังส่งผลต่อสมาธิความจำ การทำงานของสมองในส่วนการบริหารจัดการ (executive function) พฤติกรรมและมีภูมิต้านทานโรคต่ำด้วย

เด็กที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากหรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆในช่วงสามขวบปีแรกของชีวิตจะทำให้เด็กไม่มีความสุขและมีพัฒนาการบกพร่องได้ ถ้าเด็กพบกับปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างก็จะยิ่งมีผลต่อพัฒนาการของเด็กมากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น ได้แก่ ความยากจน ปัญหาสุขภาพจิตของผู้ดูแลเด็ก การทารุณกรรมเด็กหรือพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น จากการศึกษาพบว่าเด็กที่ถูกทารุณกรรมและมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆเพิ่มอีก 6 ปัจจัย มีโอกาสร้อยละ 90-100 ที่จะมีพัฒนาการล่าช้าตั้งแต่หนึ่งด้านขึ้นไปในด้านสติปัญญา ภาษาหรืออารมณ์ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพในวัยผู้ใหญ่ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคมะเร็งบางชนิดด้วย

 

วิธีการสร้างสุขให้เด็กปฐมวัย

การสร้างความสุขให้กับเด็กปฐมวัยนั้น นอกจากการให้เด็กได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอและ อบรมสั่งสอน ให้การดูแลที่เหมาะสมแล้วพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูยังสามารถทำได้โดย

1. ดูแลให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วนและมีประโยชน์

2. สัมผัส กอดและพูดคุยกับเด็กด้วยความรักและความเอาใจใส่

3. จัดประสบการณ์ สิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้ในด้านต่างๆตามช่วงวัย โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เช่น การอ่านหนังสือ เล่านิทานกับเด็ก ทำกิจกรรมศิลปะ เล่นดนตรี เล่นกลางแจ้งหรือเล่นกีฬาเพื่อให้เด็กได้ออกกำลัง เคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น

4. ลดหรือไม่สร้างความเครียดให้กับเด็ก เช่น การเลี้ยงดูอย่างเข้มงวด บังคับให้ทำในสิ่งที่เด็กไม่ชอบ ดุว่า ลงโทษอย่างรุนแรง ทำให้เด็กรู้สึกกลัว วิตกกังวล และไม่มีความสุข

 

คนรอบข้างจะสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยมีความสุขได้อย่างไร

ครอบครัวและเครือข่ายต่างๆในชุมชนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความสุขให้กับเด็กปฐมวัย โดยการจัดการเรียนรู้ให้เด็กมีความสุข มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก มองหาจุดแข็งของเด็ก สนับสนุนการพัฒนาของเด็กในด้านต่างๆ ดังตาราง

การดำเนินงานเพื่อสร้างความสุขให้เด็กปฐมวัย

นโยบายและโปรแกรมบริการสำหรับเด็ก

พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู

และขีดความสามารถของชุมชน

รากฐานของการพัฒนาอย่างแข็งแกร่ง

ชีววิทยาของสุขภาพและพัฒนาการ

ผลลัพธ์ของชีวิตความเป็นอยู่

-อาสาสมัครสาธารณสุข

-บุคลากรสาธารณสุข

-สวัสดิการสำหรับเด็ก

-โปรแกรมบริการ

-เศรษฐานะของครอบครัวที่มั่นคง

-พัฒนาชุมชน/องค์กรปกครอง

-หน่วยงานเอกชน

-เวลาและความมุ่งมั่น

การจัดทรัพยากร

-สนับสนุนด้านการเงิน จิตสังคมและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับเด็ก

-ทักษะและความรู้

-ความสัมพันธ์ที่มั่นคงและตอบสนองต่อเด็ก

-สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนและปลอดภัย

-โภชนาการที่เหมาะสม

-ปฏิสัมพันธ์ระหว่างยีนและสิ่งแวดล้อม

-ฝังในโครงสร้างสมองของเด็ก

-การปรับตัวทางสรีรวิทยาหรือการหยุดชะงัก

-สะสมตามระยะเวลาที่ผ่านไป

-พฤติกรรมสุขภาพ

-ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

-ผลผลิตด้านเศรษฐกิจ

สุขภาพกายและจิต

ดัดแปลงจาก An ecobiodevelopmental framework for early childhood policies and programs (Shonkoff JP, Garner AS; 2012)

 ประโยชน์ที่จะได้จากการสร้างสุข

   การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและเรียนรู้ ในขณะที่เด็กปฐมวัยกำลังพัฒนา มีความสำคัญในการทำให้เด็กมีความสุข สมองของเด็กมีการพัฒนาส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ดีขึ้น จากการศึกษาพบว่าเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับการกระตุ้นด้านภาษาจากแม่ที่มีการศึกษาดีจะมีความสามารถในด้านคำศัพท์ (vocabulary) ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างชัดเจนเมื่อเด็กอายุ 18 เดือน และเมื่ออายุ 3 ปีเด็กเหล่านี้จะมีคำศัพท์มากกว่าเด็กอื่น 2-3 เท่า ส่งผลให้เด็กเหล่านี้สามารถพัฒนาต่อไปได้เร็วกว่าเด็กอื่นเมื่อเข้าโรงเรียนด้วย

  ดังที่กล่าวแล้วว่าประสบการณ์ที่เด็กปฐมวัยได้รับในช่วงแรกของชีวิตนั้น ไม่เพียงมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก ยังมีผลต่อสุขภาพด้วย เด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือความเครียดที่สำคัญในวัยเด็กจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการมีปัญหาสุขภาพในวัยผู้ใหญ่ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมองและโรคมะเร็งบางชนิด ดังนั้น การทำให้เด็กปฐมวัยมีความสุขโดยการลดความเครียดเหล่านี้ก็จะช่วยลดปัญหาสุขภาพในวัยผู้ใหญ่ ทั้งปัญหาสุขภาพทางกายและปัญหาสุขภาพจิตด้วย

 

  เมื่อเด็กปฐมวัยมีความสุขเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะสามารถประกอบอาชีพ ทำงานให้ผลผลิต ไม่เป็นภาระแก่สังคม ไม่ก่ออาชญากรรมให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งรัฐก็สามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีเพื่อนำมาพัฒนาประเทศชาติได้ต่อไปด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

 1. รัตโนทัย พลับรู้การ. ความผูกพันระหว่างเด็กกับผู้เลี้ยงดู : จากงานวิจัยสู่การปฏิบัติ. ใน : ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์, สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงศ์, วีระศักดิ์ ชลไชยะ บรรณาธิการ. ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เล่ม 3 การดูแลเด็กสุขภาพดี. บริษัท บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ 2556; 11-18.

2. นพวรรณ ศรีวงค์พานิช. การส่งเสริมพัฒนาการ. ใน : ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์, สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงศ์, วีระศักดิ์ ชลไชยะ บรรณาธิการ. ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก เล่ม 3 การดูแลเด็กสุขภาพดี. บริษัท บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ 2556; 94-107.

3. Shonkoff JP, Garner AS and the committee on psychosocial aspects of child and family health , committee on early childhood, adoption, and dependent care, and section on developmental and behavioral pediatrics. The lifelong effects of early childhood adversity and toxic stress. Pediatrics 2012; 129 : e 232-46

4. Center for the developing child at Harvard University. Children’s emotional development is built into the architecture of their brains. [Online]. 2007 [cited 2013 Oct 6]; Available from: URL: http://developingchild.harvard.edu/index.php/resources/reports_and_working_papers /working_papers/wp2/.

5. Wismer Fries AB, Ziegler TE, Kurian JR, Jacoris S, Pollak SD. Early experience in humans is associated with changes in neuropeptides critical for regulating social behavior. PNAS 2005; 102 : 17237-40.

6. Strathearn L. Maternal neglect: oxytocin, dopamine and the neurobiology of attachment. J Neuroendocrinol 2011; 23 : 1054-65.

เผยแพร่โดย 

ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี สถาบันราชานุกูล

 

 

 

 

 


  View : 30.61K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 161
 เมื่อวาน 957
 สัปดาห์นี้ 2,036
 สัปดาห์ก่อน 7,656
 เดือนนี้ 14,924
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 896,602
  Your IP : 57.141.3.23