วันที่ 13 มกราคม 2566 สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 "เล่นกับลูก ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ" เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและทักษะทางสังคม การช่วยเหลือตนเอง ส่งเสริมความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู การสาธิตการเล่นกับลูกโดยใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการ การเติบโตสมวัยและสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว พร้อมส่งต่อความสุขด้วยชุดของขวัญแก่เด็กกลุ่มที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา
รับชมการแสดงความสามารถของเด็กกลุ่มที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา จำนวน 4 ชุด 1. การแสดงชุด “อร่อยเหาะ” โดย กลุ่มงานการศึกษาพิเศษ 2. การแสดงชุด “ฝนเทกระจาย” โดย จาก หอผู้ป่วยออทิสติก 2 กลุ่มภารกิจการพยาบาล, 3. ขับร้องเพลง ถ้าเธอรักใครคนหนึ่ง โดย น้องไมอามี่ การศึกษาพิเศษ 6 โรงเรียนบางชัน(ปลื้มวิทยานุสรณ์) และ 4.การแสดงมายากล ชุด นายน์เมจิคแดนซ์ โดย สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย
จากนั้น แพทย์หญิงนพวรรณ ศรีวงค์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล และคณะผู้บริหาร มอบถุงของขวัญวันเด็ก สำหรับเด็กคนพิเศษ โดยการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายและขอขอบคุณผู้สนับสนุนของขวัญวันเด็ก โรงเรียนนานาชาติแอ๊ดเวนต์รามคำแหง, มูลนิธิ Five For All, บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน), บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด, คุณสุชาติ โอวาทวรรณสกุล สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาฯ, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น และ พี่เสือ ทอรัส (คุณกฤชพล อภิรักษ์โยธิน) และเพื่อนๆ / ดาราจากช่อง 7 สี, บริษัท พารากอน สตีล ซัพพลายส์ จำกัด, คุณชมชนก แสงศิริ
และเยี่ยมชมบูธนิทรรศการส่งเสริมการเล่นเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่ "เกมดิจิทัลเกมส์พัฒนาการเรียนรู้ (Digital learning games), เล่นดี อารมณ์ดี พฤติกรรมดี (Inside Out), จินตนาการ เลิศ สร้างสรรค์ เด่น ด้วยการเล่น (Delightful imagination made by enjoyable play), อ่านเล่นเป็นเรื่อง (Reading for all) และ เรียนเล่นกับเด็กพิเศษ (Supporting child with special needs through play)
********************
กรมสุขภาพจิต จัดกิจกรรม เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2566 พร้อมแนะใช้หลัก 3 ล. เพื่อเสริมการเล่นคุณภาพ
วันนี้ (13 มกราคม 2566) กรมสุขภาพจิตมอบหมายให้สถาบันราชานุกูลจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2566 วันพิเศษเพื่อคนพิเศษ พร้อมเชิญชวนทุกครอบครัวให้ความสำคัญต่อการเล่นคุณภาพเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ การเติบโตสมวัยและสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตเห็นความสำคัญของกลุ่มเด็กพิเศษหรือเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยมีการพัฒนาและส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้มีพื้นที่และมีโอกาสในการแสดงออกเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในสังคมไม่ต่างจากคนอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาเด็กเหล่านี้ได้ทำให้เห็นแล้วว่าพวกเขาเหล่านี้สามารถอยู่ในสังคมและทำกิจกรรมรวมไปถึงใช้ชีวิตได้เฉกเช่นคนทั่วไป การจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติในวันนี้จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่จะทำให้เด็กๆเหล่านี้ได้มีความรู้สึกว่าตนเองคือคนพิเศษที่สำคัญอีกครั้ง ซึ่งการส่งเสริมพัฒนาการและการบำบัดฟื้นฟูทางการแพทย์นั้นถึงแม้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว เพราะเด็กกลุ่มนี้มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัวและต้องการการดูแลจากครอบครัวมากกว่าเด็กๆโดยทั่วไป ครอบครัวจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก โดยสมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถเป็นผู้ส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็กๆได้ตลอดเวลาผ่านกิจกรรมต่างๆที่ทำร่วมกันภายในครอบครัว ผ่านการฝึกทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ และกิจกรรม ที่ควรให้สำคัญอย่างมากคือการเล่นกับลูกๆ กลุ่มเด็กพิเศษ
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่ออีกว่า การเล่นนั้นไม่เพียงแต่สร้างความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างเด็กๆและพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู นอกจากนี้การเล่นยังเป็นการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม การรู้คิดรวมถึงการพัฒนาทักษะในการแก้ไขปัญหาทั่วไปในชีวิตประจำวัน เด็กพิเศษกลุ่มนี้ก็ล้วนแต่ต้องการกิจกรรมการเล่นเช่นเดียวกับเด็กปกติ การเล่นที่มีคุณภาพและสม่ำเสมอจะช่วยกระตุ้นให้พัฒนาการของเด็กพิเศษนั้นสามารถมีพัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มใดก็ตาม พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูควรให้ความสำคัญในเรื่องของการเล่นกับลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัยโดยสามารถใช้หลักการ 3 ล เพื่อให้การเล่นแต่ละครั้งเป็นการเล่นที่มีคุณภาพได้ดังนี้ ล ที่ 1 เล่นร่วมกัน อย่างน้อยครั้งละ 30 นาทีอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ล ที่ 2 เล่นผ่านการเล่านิทาน ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการสร้างจินตนาการผ่านการฟัง โดยการใช้เวลาเพื่อการเล่านิทานให้ลูกฟังหรืออ่านหนังสือกับลูกเพียงอย่างน้อยวันละ 10 นาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่านิทานจากพ่อแม่ที่มีการทำเสียงสูงต่ำประกอบจะสร้างความสนุกตื่นเต้นและทำให้ลูกมีความรู้สึกเกิดการมีส่วนร่วม เสริมสร้างสมาธิจดจ่อจากการฟัง ซึ่งทักษะการฟังเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการอ่านและเขียนอีกด้วย ล ที่ 3 เล่นผ่านการใช้สื่อหน้าจออิเล็กทรอนิกส์อย่างพอดี ในปัจจุบันมีสื่อการสอนดีๆและ มีเกมที่สร้างสรรค์เพื่อเสริมการเรียนรู้อย่างมากมายในอินเทอร์เน็ต แต่ไม่ใช่ทุกวัยจะสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างอิสระ โดยมีข้อแนะนำว่าเด็กที่อายุต่ำกว่าสองปีไม่ควรใช้สื่อต่างๆ เหล่านี้ พ่อแม่ควรมีการตั้งกฏกติกากับลูกเรื่องระยะเวลาในการใช้สื่อหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งควรมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อพื้นที่ไร้สื่อหน้าจอโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลารับประทานอาหาร หรือการเข้านอน เพื่อให้เด็กมีช่วงเวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัว รวมถึงพ่อแม่ควรช่วยกันตรวจสอบคุณภาพของเนื้อหาให้เป็นไปตามความเหมาะสมของอายุ และพูดคุยสอดแทรกเพื่อสร้างความเข้าใจให้เด็กมีความรู้เท่าทันต่อเนื้อหาที่หลากหลายในสื่อต่างๆที่มีอย่างมากมายในปัจจุบัน
แพทย์หญิงนพวรรณ ศรีวงค์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ตามที่ท่านอธิบดีกรมสุขภาพจิตมอบหมายให้สถาบันราชานุกูล จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติวันพิเศษสำหรับคนพิเศษในปีนี้ สถาบันฯมีความต้องการที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีของสมาชิกในครอบครัว โดยการให้สมาชิกในครอบครัวมอบของขวัญวันเด็กให้แก่กันและกันโดยผ่านการเล่นที่เหมาะสมกับลูก เพราะเรื่องของการเล่นไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน เนื่องจากมีสื่อและอุปกรณ์สำหรับการเล่นที่น่าสนใจอย่างมากมาย แต่อย่างไรก็ตามของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกคือพ่อแม่ การมีเวลาเล่นกับลูกในแต่ละวัน โดยเน้นการเล่นให้ลูกรู้สึกสนุกสนาน เมื่อลูกรู้สึกสนุกสนานจะเกิดการเรียนรู้ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาสมอง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาความฉลาดทั้งทางสติปัญญา อารมณ์ และสังคมไปพร้อม ๆ กัน ยิ่งพ่อแม่เล่นกับลูกมากเท่าไหร่ เด็กก็จะยิ่งได้รับการพัฒนามากขึ้นเท่านั้น จึงอยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้เลี้ยงดู ใช้หลักการเล่นที่มีคุณภาพ ที่แนะนำไว้ข้างต้น เล่นกับลูกอย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนาสมอง สร้างความสุข และกระชับความสัมพันธ์ของทุกคนในครอบครัวอันจะเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตอีกด้วย สร้างสรรค์ สังคมไทย ส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กไทย ให้ยั่งยืน