“โรงเรียนคู่ขนาน” โอกาสการศึกษา “เด็กพิเศษ”

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
ปัญหาของครอบครัวที่ “ลูกมีภาวะดาวน์ซินโดรม” ก็คือไม่มีโรงเรียนให้ลูกเรียน บางครอบครัวท้อใจไปที่โรงเรียนไหนใครๆ ก็ไม่รับ จึงตัดสินใจทำโฮมสคูลอยู่กับบ้าน
ผมต้องขออนุญาตท่านผู้อ่าน เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ “เด็กที่มีความพิเศษ” อีกครั้ง เพราะช่วงนี้ผมไป “เล่านิทาน” ให้กับ โครงการเล่านิทานให้กับเด็กพิการทางสติปัญญา ทุกเดือน สำหรับเดือนนี้ผมได้ไปที่ โรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) ผมดีใจที่ได้เจอบัดดี้เก่า “น้องพราว” ที่ผมเคยเป็นอาสาสมัครนักอ่านให้กับเธอที่ สถาบันราชานุกูล เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน คราวนี้ได้มาเจอกันอีกครั้ง “น้องพราว” ยังน่ารักเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือความสูงและความสามารถในการสื่อสารที่มากขึ้นกว่าเดิม
 
ปัญหาของครอบครัวที่ “ลูกมีภาวะดาวน์ซินโดรม” ก็คือไม่มีโรงเรียนให้ลูกเรียน บางครอบครัวท้อใจไปที่โรงเรียนไหนใครๆ ก็ไม่รับ จึงตัดสินใจทำโฮมสคูลอยู่กับบ้าน ผู้ปกครองก็ต้องเสียสละหนึ่งคนเพื่อเลี้ยงลูกอย่างเดียว โดยไม่สามารถทำงานหารายได้หรือมีรายได้ที่ลดน้อยลง อย่างไรก็ตามแม้จะพัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนได้ แต่ทักษะสังคมก็จะไม่พัฒนา เพราะไม่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับคนทั่วๆ ไป
 
เรื่องการหาโรงเรียน ต้องฟังจาก คุณสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทยครับ เล่าให้ผมฟังว่า ขนาดเป็นนายกฯ เอง ยังหาโรงเรียนให้ลูกเป็นสิบๆ แห่ง กว่าจะหาที่เรียนให้กับลูกได้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณสุชาติและภรรยา ขับรถเป็นชั่วโมงเพื่อพาลูกชายไปสมัครเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ทาง คุณสุชาติ ได้โทรนัดหมายเพื่อที่จะเข้าพบ ผู้อำนวยการโรงเรียน ไว้ล่วงหน้า
 
เมื่อไปถึง เลขาฯ เชิญให้เข้าไปพบในห้องท่าน ผอ. แต่ยังไม่ทันที่ คุณสุชาติและภรรยา จะหย่อนก้นนั่งเก้าอี้เลย ผู้อำนวยการ ปฏิเสธตั้งแต่เห็นว่า “ลูกชาย” คุณสุชาติ มี “ภาวะดาวน์ซินโดรม” คุณสุชาติขอให้ทางโรงเรียนได้ทดสอบลูกชายเขาก่อน แต่ทาง ผู้อำนวยการ บอกว่า
“แม้ว่าจะผ่านการทดสอบก็ไม่อยากรับ เพราะถ้าผู้ปกครองคนอื่นเห็นว่ามีเด็กดาวน์มาเรียนร่วมกัน ภาพลักษณ์ของโรงเรียนจะไม่ดี เดี๋ยวจะไม่มีคนมาสมัครเข้าเรียนโรงเรียนนี้”
นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่ คุณสุชาติ และครอบครัวถูกปฏิเสธ เขาเพียรหาโรงเรียนให้ลูกชาย จนกระทั่งได้มาเจอ โรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) ทาง ผู้อำนวนการโรงเรียนนี้เปิดรับเด็กที่มี “ภาวะดาวน์ซินโดรม” ด้วย ลูกชายคุณสุชาติจึงได้เรียนโรงเรียนนี้จนจบ ม.3 ในที่สุด
 
เพราะด้วยความใจกว้างแบบนี้ ผมจึงได้ “เล่านิทาน” ให้กับเด็กพิเศษเกือบ 100 คน ไม่นึกเหมือนกันว่าเด็กๆ จะมีจำนวนมากขนาดนี้ มีตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงเด็กโต เมื่อเล่าจบแล้ว ผมขอตัวไปเข้าห้องน้ำ เผอิญว่าห้องน้ำที่อยู่ใกล้หอประชุมอยู่บนตึกของเด็กพิเศษซึ่งเป็นตึกสร้างใหม่ ดูดีมากเลยครับ ผมสังเกตเห็นป้ายตัวโตบอกว่า เข้าห้องน้ำล้างมือ ปิดน้ำ ปิดไฟ เอาไว้สอนเด็กๆ
 
เมื่อออกมา ผมได้เจอกับ “เด็กพิเศษ” คนหนึ่ง เป็นเด็กผู้ชายตัวโตอยู่ประมาณ ม.3 เขาจำผมได้และไหว้สวัสดี เขาบอกว่าอยากจะชวนผมไปดูห้องเรียน ผมเลยบอกว่า ผมขอไล่ดูตั้งแต่เด็กเล็กได้มั้ย เขาจูงมือพาผมไป ผมได้คุยกับคุณครูที่เป็นครูประจำชั้น ท่านบอกว่า โรงเรียนบางชันเป็น “โรงเรียนแบบคู่ขนาน” รับทั้งเด็กปกติและเด็กพิเศษ แต่ไม่ได้เรียนร่วมกัน แยกกันสอน มีตึกของตัวเอง มีครูประจำชั้น 1 คน และครูพี่เลี้ยง 1 คน เด็กต่อห้องประมาณ 15 คน อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ทั้งหมดจะได้อยู่ในบริเวณโรงเรียนเดียวกัน (ตอนเข้าแถว ตอนพักเบรค ตอนรับประทานอาหาร และตอนเลิกเรียนจะได้พบกัน)
 
ผมเดินชมผลงานศิลปะที่ติดหน้าห้อง จึงได้เห็นว่า เด็กที่ได้เรียนโรงเรียนแบบนี้ เขาจะได้พัฒนาฝีมือดีขึ้นไปตามอายุและการฝึกฝน ผมไปดูห้องเด็กโต ผลงานยิ่งดี ระบายสีอยู่ในกรอบ เต็มสี มีบทความภาษาอังกฤษและภาษาจีน เขียนด้วยลายมือที่สวยและตั้งใจ ผมทึ่งมากเพราะไม่ทราบมาก่อนว่าเด็กที่มีภาวะดาวน์จะทำงานได้ดีถึงขนาดนี้ก่อนกลับ ไกด์ส่วนตัวผมขอถ่ายรูปด้วย ผมรู้สึกได้เลยว่า “เด็กดาวน์ซินโดรม” ช่างเป็นมิตร จะไหว้และทักทายผู้ใหญ่ก่อนเสมอ เด็กๆ หลายคนพยายามที่จะมาคุยกับผม แม้จะฟังยากไปนิด แต่ถ้าเราพอจับใจความและตอบกลับเขาได้ เขาจะดีใจมากเลยครับ
 
สุดท้าย ผมต้องขอชมเรื่องการไหว้ของโรงเรียนนี้เลยครับว่า สอนให้เด็กไหว้ได้สวยมาก แขกไปเยี่ยมโรงเรียนอย่างผมเห็นแล้วประทับใจ อีกทั้งต้องขอบคุณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) ที่ให้โอกาสทางการศึกษากับ “เด็กพิเศษ” มาเรียนที่เดียวกับเด็กทั่วไปในรั้วโรงเรียนเดียวกันครับ และหวังว่าจะมีสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่พร้อมเปิดใจรับเด็กๆ ที่มีศักยภาพเหล่านี้ให้ได้เรียนอย่างเท่าเทียมกัน และมีโอกาสเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคต
 
 
คอลัมน์ : ก่อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย “น้าเมฆ” 
http://www.dailynews.co.th/article/508961
 

“โรงเรียนคู่ขนาน” โอกาสการศึกษา “เด็กพิเศษ”.pdf

  View : 13.90K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,252
 เมื่อวาน 1,702
 สัปดาห์นี้ 4,312
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 24,228
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 905,906
  Your IP : 182.232.115.50