สมาธิสั้นแก้ไขอย่างไร

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
          “โรคสมาธิสั้น” เรียกย่อๆ ว่า ADHD มาจาก Attention Deficit Hyperactivity Disorder ซึ่งในปัจจุบันเราพบว่ามีเด็กวัยเรียนทั่วโลกเป็นโรคสมาธิสั้นประมาณร้อยละ 7 หมายความว่า ในเด็กวัยเรียน 100 คน จะพบโรคสมาธิสั้น 7 คน ถ้าในห้องเรียนมีนักเรียนประมาณ 40–50 คน ก็จะมีเด็กสมาธิสั้น 2–3 คน อาการหลักของเด็กสมาธิสั้นมี 3 ด้าน คือ 1. อยู่ไม่นิ่ง ซน ยุกยิก กระสับกระส่าย มืออยู่ไม่สุข อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องขยับตลอด นั่งไม่ติดที่ ชอบเดินไปมา ชอบวิ่ง ไม่เดิน ชอบปีนป่าย เล่นผาดโผน เล่นแรง เล่นได้ไม่เหนื่อย พูดเก่ง พูดเร็ว พูดไม่หยุด พูดไปเรื่อย ๆ หุนหันพลันแล่น รอคอยไม่ได้ คิดอะไรจะทำทันที เหมือนรถไม่มีเบรก พูดสวน พูดทะลุกลางปล้อง ตอบก่อนผู้ถามจะถามจบ 2. ถ้าต้องทำอะไรที่ช้า ๆ หรือนาน ๆ จะไม่อยากทำ หรือไม่อดทนพอที่จะทำสิ่งนั้น ไม่มีสมาธิ ทำงานตกหล่น สะเพร่า เหม่อลอย ขี้ลืม 3. ทำของหายบ่อย ๆ ทำอะไรนาน ๆ ไม่ได้ เปลี่ยนกิจกรรมบ่อย ๆ ทำงานไม่เสร็จ วอกแวกง่าย อะไรผ่านก็หันไปมองเหมือนไม่ได้ฟังเวลามีคนพูดด้วย“
 
          สาเหตุของโรคนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม ถ้ามีพ่อหรือแม่ 1 คน เป็นโรคสมาธิสั้น พบว่าลูกจะเป็นโรคนี้ร้อยละ 57 รวมทั้งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น มารดาสูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดช่วงตั้งครรภ์ น้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ รวมทั้งได้รับพิษจากสารตะกั่ว โรคที่มักพบร่วมกับโรคสมาธิสั้น เช่น โรคการเรียนรู้บกพร่อง หรือ Learning Disorder (LD) พบร่วมกับโรคสมาธิสั้นได้ถึงร้อยละ 30 ปัญหาพฤติกรรมดื้อต่อต้าน ไม่ทำตามสั่ง โรคกล้ามเนื้อกระตุก (Tics) โรควิตกกังวล ในเด็กที่มีโรค LD ร่วมด้วยจะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ - เขียนหนังสือไม่ถูก สับสนเวลาสะกดคำ อ่านหนังสือไม่คล่อง อ่านตะกุกตะกัก หรือ อ่านข้ามคำที่อ่านไม่ออกไปเลย ไม่เข้าใจการคิดคำนวณเลข สับสนเวลาต้องคิดคำนวณเลข ทั้งนี้ การแก้ไขหรือรักษา ช่วยเหลือดูแลเด็กที่เป็นสมาธิสั้น จะต้องเกี่ยวข้องกันหลายฝ่าย ทั้งตัวเด็กเอง ผู้ปกครองและครูที่ดูแลเด็กที่โรงเรียน นอกจากนั้นการรักษาจำเป็นต้องใช้หลายวิธีผสมผสานกัน ในการดูแล เพื่อให้ได้ผลการรักษาดีที่สุด“
 
        นอกจากนี้แล้ว ยังมีการรักษาด้วยยา ยาเพิ่มสมาธิ มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่น Methylphenidate จะสามารถลดอาการทั้ง 3 ด้านได้โดยตัวยาเข้าไปกระตุ้นให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทเพิ่มมากขึ้น และการรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม ทั้งผู้ปกครองและครูสามารถใช้การปรับพฤติกรรมช่วยเด็กได้ อาทิ จัดสถานที่ให้เหมาะสมก่อนเริ่มกิจกรรม อย่างการเรียนในห้อง เรียนเราไม่ควรให้เด็กนั่งเรียนใกล้หน้าต่าง ประตู หรือเพื่อนที่มักจะชวนคุย เพราะจะทำให้วอกแวกได้ง่าย ถ้าเป็นไปได้ควรให้นั่งแถวหน้าใกล้กระดาน หรือใกล้ ๆ ครูผู้สอน ขณะที่อยู่ที่บ้าน เราก็ควรปิดโทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ตเพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาทำการบ้านอย่างมีสมาธิ และควรจัดโต๊ะที่ทำการบ้านให้อยู่ในห้องที่สงบ หรือหันหน้าเข้ากำแพง การตั้งกฎกติกาและสื่อสารกับเด็กให้ชัดเจน เช่น ทำการบ้านให้เสร็จก่อน จึงจะสามารถไปเล่นได้ ถ้าทำการบ้านเลขเสร็จ 10 ข้อ แล้วจะได้พักดูการ์ตูน 1 ตอน เป็นต้น ด้านกิจกรรม ควรแบ่งขั้นตอนในการทำให้งานแต่ละอย่างออกเป็นขั้นย่อย ๆ แล้วให้เด็กค่อย ๆ ทำไปทีละขั้น เช่น เด็กปกติสามารถทำการบ้าน 20 ข้อเสร็จได้รวดเดียว แต่เด็กสมาธิสั้นอาจต้องแบ่งเป็นทำครั้งละ 10 ข้อ แล้วไปพักเปลี่ยนอิริยาบถก่อน จึงกลับมาทำต่ออีก 10 ข้อ เป็นต้น การให้สัญญาณเตือนเมื่อเด็กวอกแวกหรือเสียสมาธิ อาจต้องช่วยด้วยการส่งสัญญาณเตือน เช่น การเรียกชื่อ หรือเรียกให้เด็กเปลี่ยนกิจกรรม ในห้องเรียนอาจให้ออกมาช่วยครูลบกระดาน หรือแจกสมุด แล้วจึงให้กลับไปทำกิจกรรมเดิมต่อ“
 
       ข้อควรระวัง คือ จะต้องไม่แสดงท่าทีไม่พอใจ หรือรำคาญในการเตือนหลังการทำกิจกรรม การให้รางวัลหรือการชมเชย เมื่อทำงานสำเร็จควรให้การชมเชย เพื่อเป็นแรงเสริมทำให้เด็กอยากประสบความสำเร็จในการทำสิ่งนั้นอีก หรืออาจให้รางวัลเป็นสัญลักษณ์ของการชื่นชม เช่น ให้สติกเกอร์ติดสมุดเมื่อทำการบ้านเสร็จ การให้การชมเชยถือเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
 
พญ.นิดา ลิ้มสุวรรณ 
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ 
โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
 
ที่มา หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพ  http://www.dailynews.co.th/article/359139
 
 
 
 

สมาธิสั้นแก้ไขอย่างไร.pdf

  View : 5.09K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 18.219.22.169