รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
นพ.วิชัย ชี้เจริญ นายกสมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะ แห่งประเทศไทย จะมาแนะเรื่องภาวะ “ปากแหว่งเพดานโหว่” ให้ได้รู้จักกัน
คุณหมอกล่าวว่า ภาวะ “ปากแหว่งเพดานโหว่” เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของการเจริญของใบหน้าระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ควรได้รับการรักษาแก้ไขแรกเริ่มตั้งแต่อายุ 3 เดือน ไม่ควรอายุเกิน3 ปี และต้องได้รับการรักษาผ่าตัดต่อเนื่องที่เป็นไปตามเกณฑ์อายุ เพื่อแก้ไขและลดความพิการให้กลับเป็นปกติ ซึ่งในอดีตมักจะประสบปัญหาการจัดแพทย์เพื่อดูแลเด็กกลุ่มนี้ แต่ในปัจจุบันทีมแพทย์ได้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ พัฒนาศักยภาพเพื่อช่วยผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
“อุบัติการณ์ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ปัจจุบันและในอดีตไม่แตกต่างกันมาก โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายงานพบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 2.6 รายต่อทารกพันรายของการเกิดมีชีพภาคใต้ 1.03 รายต่อทารกพันรายของการเกิดมีชีพ และภาคเหนืออยู่ที่ 1.5 รายต่อทารกพันรายของการเกิดมีชีพ โดยภาพรวมทั้งประเทศของแต่ละปีจะอยู่ที่ 1.8-2 รายต่อทารกพันรายของการเกิดมีชีพ”
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงการรักษาตามอายุที่เหมาะสมและต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยต้องได้รับผ่าตัดต่อเนื่องเฉลี่ย 5 ครั้งต่อราย ไม่สามารถผ่าตัดได้ในครั้งเดียว ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลและผ่าตัดอย่างถูกวิธีจะลดความพิการกลับมาอยู่ในภาวะปกติได้
โดยการดำเนินงานของโครงการเชิงรุก ระหว่างสภากาชาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ “โครงการยิ้มสวย เสียงใส” เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัด การเข้าถึงการรักษา ประกอบกับการผ่าตัดรักษาปัจจุบันสามารถทำได้ในโรงพยาบาลสังกัด สธ. ทั้งยังมีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง
อันที่จริง “ปากแหว่งเพดานโหว่” สามารถแก้ได้ไม่ยาก เพียงแต่หากผู้ปกครองต้องพบอาการอย่างเนิ่นๆ การรักษาโรคก็จะง่ายขึ้นเยอะ
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์