นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้เป็นวันความสุขสากล (The International Day of Happiness) ทั้งนี้ จากรายงานความสุขโลก ปี ค.ศ. 2016 ประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีความสุขอันดับ 1 ของโลก ส่วนประเทศไทยมีความสุขอยู่ลำดับที่ 33 ของโลก ขยับขึ้นจากลำดับที่ 34 ในปีที่แล้ว และ อันดับที่ 36 ในปี ค.ศ.2013 โดยยังคงอยู่ในลำดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ทั้งนี้ คะแนนความสุขจากการสำรวจ เป็นผลจากปัจจัยต่างๆ มากมาย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดย รายงานความสุขโลก ได้สรุปผลการวิเคราะห์ไว้ว่า ปัจจัยกำหนดระดับความสุขของแต่ละประเทศ ขึ้นกับปัจจัยสำคัญห้าประการ ได้แก่ 1.ระดับรายได้ 2. จำนวนปีสุขภาพดี 3. การมีคนช่วยเหลือยามต้องการ 4. ความมีอิสรภาพ และ 5.ระดับการแพร่ระบาดของคอรัปชั่น ซึ่งการที่ประเทศไทยมีความสุขดีขึ้นต่อเนื่อง อาจอธิบายได้ว่า ปัจจัยทั้ง 5 ประการข้างต้นของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่น จึงทำให้การจัดลำดับดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังอาจอธิบายได้จากผลการสำรวจความสุขคนไทยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจากความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคมและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยแบบสำรวจสุขภาพจิตคนไทย ฉบับสั้น 15 ข้อ ที่พบว่า การจัดสรรเวลาสำหรับงาน/ชีวิตส่วนตัว/ครอบครัวได้ดี มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี อาศัยอยู่ในชุมชนที่ปลอดภัย เป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ที่ส่งผลต่อความสุขของคนไทย โดยพบว่า การจัดสรรเวลาสำหรับงาน/ชีวิตส่วนตัว/ครอบครัวได้ดีจะมีความสุขมากกว่า 4.2 เท่า ขณะที่ การมีสุขภาพดี จะมีความสุขมากกว่า 3.9 เท่า และการอาศัยอยู่ในชุมชนและสังคมที่ปลอดภัย จะมีความสุขมากกว่า 2.9 เท่า รวมทั้ง ยังพบว่า การมีสายสัมพันธ์ที่ดีมีแรงเกื้อหนุนทางสังคม ทั้งการมีเพื่อนหรือคนในสังคมคอยช่วยเหลือยามที่ต้องการ มีครอบครัวที่มีความรัก เอื้ออาทรต่อกัน ตลอดจน ยึดหลักศาสนา ทำสมาธิ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขคนไทยเช่นกัน เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ความสุขของประชาชนเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ไม่ใช่เพียงตัวเลขทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงการมีสุขภาพที่ดี และสังคมที่แข็งแรงด้วย
สำหรับแนวทางสร้างสุข เนื่องในวันความสุขสากล ขอเชิญชวนคนไทยมาเริ่มสร้างความสุขง่ายๆ ที่สร้างขึ้นได้ในทุกวัน โดยเริ่มจากตัวเอง แล้วส่งต่อความสุขนั้นไปยังคนรอบข้าง ครอบครัว ชุมชน และสังคมต่อไป ด้วยวิธี “คิดบวก” ซึ่งเป็นอีก 1 วิธีสร้างสุข จาก บัญญัติสุข 10 ประการ
และวิธีที่สมาชิกแฟนเพจสุขสร้างได้(SUKSANGDAI) ในวัยต่างๆ จากทุกภาคทั่วประเทศ โหวตให้เป็นวิธีสร้างสุข ลำดับที่ 4 ต่อจาก 3 วิธีแรกที่ได้รณรงค์ไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา คือ “ให้เวลา ขยับกาย กระจายสิ่งดี” โดยปีนี้ กรมสุขภาพจิต ได้จัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนร่วมสร้างสุขและส่งต่อความสุขไปยังคนรอบข้าง ด้วยการส่งข้อความ ภาพ หรือคลิปวีดีโอ บอกถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันผ่านสังคมออนไลน์
รวมทั้ง จัดประกวดคลิปวิดีโอ และภาพอินโฟกราฟิก ในหัวข้อ“ความสุขสร้างได้...ทุกวัน (Happy Everyday) : คิดบวก... ชีวิตบวก”ซึ่งมีผู้ร่วมส่งผลงานเข้ามามากกว่า 150 ผลงาน
ผู้ชนะเลิศ ประเภทคลิปวีดีโอได้แก่ ทีมเกลียดนิยม มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีมหัวไถ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต รองชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ ทีมราชินีม้าดำ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต รางวัล Popular Vote ได้แก่ นายกิติพงศ์ รักษารัก
ส่วนประเภทภาพอินโฟกราฟิก ไม่มีผู้ได้รับรางวัลรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ นายสุริยุ โซ่เงิน รองชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ นางสาวศิริลักษณ์ สุขวัฒน์ Popular Vote ได้แก่ นางสุริดา ทำเผือก
โดย สามารถรับชมผลงานทั้งหมด ได้ที่ แฟนเพจ สุขสร้างได้ (Suksangdai) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข “เราทุกคนสามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ด้วยตนเองในทุกวัน ทุกเวลา และทุกสถานที มาร่วมสร้างความสุขและส่งต่อความสุขไปยังคนรอบข้างด้วยกันตั้งแต่วันนี้เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของสังคมไทย” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
**********18 มีนาคม 2559