ไส้ติ่งอักเสบในเด็ก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
         เมื่อพูดถึง “ไส้ติ่งอักเสบ” หรือการผ่าตัดไส้ติ่ง คิดว่าเกือบทุกท่านจะต้องเคยได้ยิน หรือเคยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย แต่จะมีสักกี่ท่านที่ทราบว่าอาการไส้ติ่งอักเสบนั้นสามารถเกิดกับเด็กได้เช่นเดียวกัน และพบได้มากจนเป็นโรคที่เด็กต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินมากเป็นอันดับแรกเลยทีเดียว อายุที่พบ มีตั้งแต่ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งพบได้น้อยมาก ไปจนถึงเด็กในวัยเรียนอายุ 12-18 ปีที่จะพบได้บ่อยที่สุด คือประมาณ 6-7% ของประชากร
        ไส้ติ่ง มีลักษณะเป็นลำไส้ส่วนเกินที่ยื่นออกมาบริเวณส่วนต่อระหว่างลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่ มีลักษณะเหมือนท่อปลายตันเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 มม.ส่วนความยาวนั้นไม่แน่นอน ตำแหน่งของไส้ติ่งมักอยู่บริเวณช่องท้องข้างขวาส่วนล่าง สำหรับการที่ไส้ติ่งเกิดอักเสบขึ้นมานั้น เกิดจากการมีเศษอาหารหรือเศษอุจจาระ ตกลงไปในโพรงไส้ติ่งจนอุดตัน หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่โคนไส้ติ่งโตขึ้นจนโพรงไส้ติ่งอุดตัน ทำให้เกิดอาการอักเสบขึ้น ไส้ติ่งที่อักเสบนี้จะมีลักษณะบวมแดง และมีขนาดใหญ่ขึ้น ถ้าทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาก็อาจจะเกิดการเน่า และแตกทะลุ ทำให้มีหนองแพร่กระจายในช่องท้อง ที่เรารู้จักกันในชื่อ “ไส้ติ่งแตก” นั่นเองและเมื่อแตกแล้วการติดเชื้อก็จะลุกลามไป อาจเข้าสู่กระแสเลือด เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงที โดยจะพบว่าในเด็กเกิดไส้ติ่งแตกได้บ่อยกว่าและเร็วกว่าผู้ใหญ่ อาจเป็นเพราะมีผนังไส้ติ่งที่บางกว่า
         อาการเริ่มแรก เด็กมักมีอาการปวดท้อง โดยจะเริ่มปวดตรงกลางๆท้องแถวรอบสะดือ ก่อนจะย้ายตำแหน่งมาปวดที่บริเวณด้านขวาล่างของช่องท้อง อาการปวดมักเป็นการปวดตลอดเวลา หรืออาจมีปวดมากเป็นพักๆ แต่ไม่มีช่วงที่หายปวดไปเลย อาการปวดจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป และมักจะปวดมากขึ้นถ้ามีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น พลิกตัว หรือเดิน เด็กอาจจะเดินงอตัวให้เจ็บน้อยลง ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน หรือถ่ายเหลวร่วมด้วย และเมื่อปวดท้องไปสักระยะหนึ่งก็จะเริ่มมีไข้ขึ้นในระยะแรกอาจเป็นไข้ต่ำแต่ถ้าทิ้งไว้ก็จะมีไข้สูงมากขึ้น และถ้าไส้ติ่งเกิดการแตกทะลุ อาการปวดก็จะแพร่กระจายไปปวด ณ ตำแหน่งอื่นๆ ของช่องท้องด้วย
         โดยทั่วไปแพทย์สามารถให้การวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบได้ จากการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด ถ้าเป็นเด็กหญิงวัยรุ่น ก็จะต้องมีการซักประวัติประจำเดือนและประวัติการมีเพศสัมพันธ์ เพราะโรคของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น เนื้องอกรังไข่ ปีกมดลูกอักเสบ หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องได้เช่นกัน โดยอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่นตรวจเลือด ดูว่ามีปริมาณเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติหรือไม่ หรือตรวจปัสสาวะ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยไม่ได้มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจจะมีอาการปวดท้องที่คล้ายกัน แต่สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ ไม่ต้องผ่าตัด
         การวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบในเด็กนั้นค่อนข้างยากกว่าในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจ หรือเด็กที่อ้วน ผนังหน้าท้องหนา ก็จะยิ่งตรวจได้ยากกว่าปกติ ต้องอาศัยความใจเย็นทั้งของแพทย์ผู้ตรวจ และผู้ปกครอง ที่บางครั้งเมื่อแพทย์จำเป็นต้องตรวจซ้ำก็จะเริ่มโกรธว่าจะกดท้องไปทำไมนักหนา แค่นี้เด็กก็เจ็บอยู่แล้ว เป็นต้น
        ในรายที่ยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่าผู้ป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบจริงหรือไม่มีทางเลือก 2 แบบคือ ทางแรก ดูอาการต่อ โดยแพทย์อาจให้ดูอาการต่อที่บ้าน หรือรับไว้ในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการก็ได้ ถ้าเป็นไส้ติ่งอักเสบจริง อาการปวดน่าจะเพิ่มมากขึ้น มีไข้ขึ้น หรืออาการปวดไม่ดีขึ้นภายใน 12-24 ชม. ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ให้กลับมาพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาต่อไป ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยคือระหว่างดูอาการ ห้ามให้ยาแก้อักเสบ หรือยาแก้ปวด เพราะจะปิดบังอาการไม่ให้แสดงออกมาให้เราเห็น อาจทำให้เกิดการวินิจฉัยล่าช้าหรือผิดพลาดได้ และควรกลับไปพบแพทย์ที่เดิมซึ่งจะสามารถเปรียบเทียบอาการในช่วงเวลาที่ต่างกันได้ดีกว่าไปตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ที่สถานพยาบาลอื่นไปเรื่อยๆ
สำหรับทางเลือกที่ 2 ก็คือการตรวจทางรังสีวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่นการทำอัลตร้าซาวนด์ หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ วัตถุประสงค์เพื่อดูว่าไส้ติ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีเลือดมาเลี้ยงกว่าปกติหรือไม่ และมีน้ำในช่องท้องที่แสดงถึงการมีการอักเสบหรือไม่ แต่ก็ต้องระลึกไว้เสมอว่าการตรวจทางรังสีนั้นไม่ใช่ “ตาวิเศษ” ที่จะเห็นทุกอย่างได้ถูกต้องแน่นอน บางครั้งอาจจะมองไม่เห็นไส้ติ่งที่บวมขึ้นทั้งๆ ที่ผู้ป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่พบได้ นอกจากนี้การตรวจจำเป็นต้องอาศัยรังสีแพทย์ที่มีความชำนาญ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และในกรณีการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ยังส่งผลให้เด็กได้รับรังสีในปริมาณที่ไม่น้อยนัก จึงควรพิจารณาเป็นรายๆ ไปไม่ควรทำในเด็กทุกคนที่สงสัยว่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ
          การรักษาไส้ติ่งอักเสบนั้นทำได้อย่างเดียวคือการผ่าตัด โดยอาจจะเป็นการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง หรือการผ่าตัดแบบส่องกล้องก็ได้ ขึ้นกับความพร้อมของโรงพยาบาลนั้นๆ และความชำนาญของศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัด ผลการรักษาไม่แตกต่างกัน โดยการผ่าตัดแบบส่องกล้องจะมีแผลเล็กๆ 0.5-1 ซม. 2-3 ตำแหน่ง จึงจะเจ็บแผลน้อยกว่าและกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วกว่าเล็กน้อย แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า
ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดไส้ติ่ง อาจจะพบการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด หรือมีหนองในช่องท้อง โดยทั่วไปแพทย์มักจะให้ยาปฏิชีวนะฉีดก่อนลงมือผ่าตัดเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อลง ถ้าไส้ติ่งแตก หลังผ่าตัดก็จะได้รับยาต่อจนกว่าไข้จะลงดีและหายปวดท้อง นอกจากนี้อาจพบการเกิดพังผืดในช่องท้องซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลให้มีลำไส้อุดตันได้ในอนาคต สามารถป้องกันได้โดยหลังจากผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องพยายามขยับตัวเคลื่อนไหว และลุกเดินให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้กลับมาทำงานได้ตามปกติได้เร็ว ลงความเสี่ยงที่จะเกิดพังผืดลงได้
 
บทความโดย : พญ.ศนิ มลกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
 
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์

ไส้ติ่งอักเสบในเด็ก.pdf

  View : 17.81K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,477
 เมื่อวาน 1,589
 สัปดาห์นี้ 6,329
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 43,046
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 835,697
  Your IP : 18.188.175.66