กรมสุขภาพจิตวอนสื่อมวลชนอย่าชี้นำบอกอัตราการต่อรอง

โดย ศูนย์ข้อมูลวิชาการ จากเดลินิวส์  วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2555
กรมสุขภาพจิตแนะดูบอลให้สนุก ต้องไม่สร้างทุกข์ด้วยการพนัน ชี้เล่นมากระวังเป็นโรคติดการพนัน วอนสื่อมวลชนอย่าชี้นำบอกอัตราการต่อรอง เปิดสายด่วนสุขภาพจิตให้คำปรึกษากรณีติดการพนัน
วันนี้ ( 8 มิ.ย.) ที่กรมสุขภาพจิต  นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ที่จะถึงนี้ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญรวมถึงประเทศไทย ปัญหาที่พบเป็นประจำ คือเรื่องการพนัน ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบแต่ตัวเอง แต่ยังกระทบถึงคนรอบข้าง โดยพฤติกรรมติดพนันบอลถือเป็นโรคทางจิตเวชหนึ่ง ที่เริ่มต้นจากการทดลองเล่น การพนันเป็นสิ่งที่อยู่ในสัญชาติญาณของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว ที่อยากสนุกสนาน อยากได้ อยากเสีย และจะเพิ่มความอยากเล่นมากขึ้นเรื่อย ซ้ำถูกเร้าด้วยสิ่งยั่วยุรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นอัตราการต่อรอง การนำเสนอของสื่อ จากการสำรวจของกรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เรื่อง คอบอลไทยกับการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 กรณีการเล่นการพนันฟุตบอล พบว่า เกือบ 30 % คิดว่าจะเล่นพนัน โดยกลุ่มอายุที่ระบุจะเล่นการพนันฟุตบอลมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 15-25 ปี ทำให้ต้องเฝ้าติดตาม เพราะเป็นกลุ่มที่อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดการพนัน ทั้งผู้ที่เป็นนักพนันอยู่แล้วหรือผู้ที่กำลังจะเป็นนักพนันหน้าใหม่ อย่างไรก็ตามฝากสื่อมวลชนไม่ควรชี้นำด้วยการบอกอัตราการต่อรอง ส่วนประชาชนควรดูบอลให้สนุก ไม่สร้างทุกข์ด้วยการพนัน
นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจที่ผ่านมา ประเทศไทยมีประชากร 3 ใน 4 ที่ยอมรับว่าเคยเล่นพนันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทั้งกรณีการเล่นสนุก เล่นเพื่อเข้าสังคม ซึ่งพฤติกรรมการพนันจะเกี่ยวข้องกับสารระบบประสาทที่ต้องการสิ่งเร้า ความตื่นเต้น หากเล่นซ้ำๆ กันในที่สุดก็อาจเปลี่ยนสารในสมองจนเกิดภาวะติด และกลายเป็นโรคติดการพนัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่สมองอยู่ระหว่างการสร้างนิสัยและความเคยชิน ที่อาจะติดต่อเนื่อง ทั้งนี้สาเหตุสำคัญของโรคติดการพนัน คือ  พันธุกรรม สังคม สิ่งแวดล้อม สิ่งยั่วยุ การชี้นำจากสื่อมวลชน และระบบสารเคมีในสมองผิดปกติ คือ เกิดการหลั่งสารโดปามีน ในสมองมาก ซึ่งเป็นสารที่ทำให้บุคคลรู้สึกตื่นเต้น เป็นสุข สนุกสนาน ขณะที่สารสื่อประสาทสมอง “ซีโรโทนิน” ลดลง ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้บุคคลมีความยับยั้งชั่งใจ
“คนที่ติดพนันจนป่วยเป็นโรคทางจิตเวชนั้น จะสังเกตจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มีการเล่นพนันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หยุดไม่ได้ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ไร้ระบบ ไร้ระเบียบ ละเลยหน้าที่รับผิดชอบ ขาดงาน ขาดความใส่ใจในกิจกรรมครอบครัว บางรายส่งผลกระทบต่อการเงิน โดยผู้ที่ติดพนันจะมีบางช่วงที่มีเงินมาก บางช่วงมีเงินน้อย บางรายประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั้งหมดเพื่อนำไปทุ่มกับพนันบอล ขโมยของในบ้านไปขาย นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาวะอารมณ์ที่แปรปรวน สองขั้ว หงุดหงิดง่าย มักระเบิดอารมณ์ บางครั้งถึงขั้นซึมเศร้า สุขภาพทรุดโทรม จำเป็นต้องนำเข้าสู่การรักษา”  นพ.ประเวช กล่าวและว่า จากข้อมูลของสหรัฐฯพบว่า มีจำนวนผู้ที่เสพติดพนันและอยู่ในระดับป่วยเป็นโรคและต้องบำบัด อยู่ 3 %  ของประชากร
นพ.ประเวช กล่าวต่อว่า แนวทางการช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาการพนันจะเริ่มจากการช่วยกันทบทวนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพนัน เพราะผู้เล่นอาจพอรู้ว่าตัวเองมีปัญหา แต่ไม่เคยหันมามองปัญหาของตัวเองให้ชัดเจน เมื่อมองปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว จึงจะร่วมกันสร้างแรงจูงใจในการหยุดเล่น ซึ่งมีหลักการในแนวทางเดียวกันกับการรักษาพฤติกรรมเสพติดอื่นๆ คือ การฝึกตั้งเป้าหมายที่ดี การจัดการสิ่งแวดล้อม การฝึกวิธีควบคุมตนเอง การจัดการอารมณ์และความเครียด การมีคนเป็นกำลังใจ ตลอดจนการรู้วิธีให้รางวัลตนเองเมื่อทำได้ ทั้งนี้ โรคติดพนันสามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการทำพฤติกรรมบำบัดและการรักษาด้วยยา ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดการพนันต้องการกำลังใจจากบุคคลรอบข้างเป็นอย่างมาก เพื่อช่วยสนับสนุนการรักษาดังกล่าว แต่ทางที่ดี ควรป้องกันไว้ดีกว่าแก้ ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
“ถ้าเล่นสนุก ๆ สามารถควบคุมได้ก็เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ถ้าเล่นมาจนเป็นโรคติดการพนัน ผลกระทบจะรุนแรงยิ่งกว่าไฟไหม้บ้าน” นพ.ประเวช กล่าว
นพ.วิวัฒน์ ยถาภูธานนท์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า  อยากถามว่าในชีวิตใครไม่เคยเล่นการพนันบ้าง คนที่เล่นการพนันทุกคนไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรคติดการพนัน ต้องดูความถี่ และดูว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตหรือไม่
นวพรรษ  บุญชาญ

  View : 2.24K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.142.135.86