พัฒนา 3 ทักษะ สร้างไอคิว-อีคิว เด็กไทย - เดลินิวส์

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
     ในปัจจุบันระดับสติปัญญา (ไอคิว) และความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของเด็กไทย ยังเป็นเรื่องน่าห่วงอยู่ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ตลอดจนทุกภาคส่วนของสังคมต้องให้ความสนใจกับปัญหานี้
     นพ.เจษฎา  โชคดำรงสุข  อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข  บอกว่า จากผลการสำรวจระดับไอคิวเด็กไทยในปี พ.ศ. 2554  พบว่า มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 98.59 โดยค่าเฉลี่ยปกติอยู่ระหว่าง 90-109 ถือว่าเป็นค่าระดับสติปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ค่อนไปทางต่ำ สอดคล้องกับคะแนนการสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ ในปี 2555 ที่พบว่า เด็กไทยมีทักษะทางด้านการคิดและการใช้ภาษาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ  เห็นได้จากผลสัมฤทธิ์การเรียนคณิตศาสตร์ การอ่านและวิทยาศาสตร์มีคะแนนรวมอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 65 ประเทศสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ขณะที่ คะแนนความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) เฉลี่ยในระดับประเทศก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ คือ มีค่าคะแนนอยู่ที่ 45.12 จากค่าคะแนนปกติ 50-100
      คนเราจะเกิดมามีความสามารถฉลาดหลักแหลมหรือเป็นคนที่ขาดความสามารถนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดยังคงเป็น “สมอง” ซึ่งพัฒนาการทางสมองเริ่มต้นมาตั้งแต่วัยเด็ก จึงจำเป็นต้องพัฒนาสมองของเด็กสร้างเสริมความรู้ประสบการณ์ให้เหมาะสมกับวัยเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสมอง พ่อแม่ ครู  ผู้ปกครอง จึงจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจในการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านการคิด การใช้ภาษา และอารมณ์ให้ถูกต้องตามจังหวะและเวลาที่เหมาะสม
      อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ “ความรุนแรง” ในเด็กไทย  ปัจจุบันปรากฏตามสื่อออนไลน์เยอะมาก เกรงว่าจะเป็นแบบอย่างให้กับเด็กหลาย ๆ คน ดังนั้นหากมีโครงการจิตอาสาให้เด็กเข้าไปร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ น่าจะมีส่วนช่วยลดความรุนแรงได้บ้าง
 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการส่งเสริมและพัฒนาไอคิวและอีคิวเด็กไทย จำเป็นต้องพัฒนาทักษะ 3 ด้าน ดังต่อไปนี้
        ทักษะด้านการคิด เป็นการใช้คณิตศาสตร์เข้ามาเสริม  เช่น ความเข้าใจเรื่องจำนวน ความสามารถในการแยกสิ่งที่เหมือนกัน ต่างกัน  ความสามารถแก้โจทย์ที่เป็นตัวตั้งต้นนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ทั้งหมดนี้ควรจะผ่านเกม หรือกิจวัตรประจำวัน ลองนึกภาพพ่อแม่กับลูกซักผ้าด้วยกันแล้วนับจำนวน แยกสี แยกกลุ่มได้ว่าอันไหนเป็นเสื้อ เป็นกางเกง ตรงนี้จะส่งผลต่อการคิดของเด็ก เพราะเขาจะเข้าใจตรรกะ เข้าใจเรื่องเหตุและผล
        ทักษะการใช้ภาษา สามารถฝึกได้โดย ผ่านกระบวนการพูดคุย การอ่านหรือใช้เรื่องเล่าต่าง ๆ ว่าแต่ละสถานการณ์เด็กควรทำอย่างไร   ภาษาเป็นช่องทางนำไปสู่ความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องของตัวเด็กเองให้คนอื่นเข้าใจ  หรือเขาสามารถคุยกับคนอื่น ไม่ว่าเพื่อนวัยเดียวกันหรือคนรอบข้าง
        ทักษะด้านอารมณ์  พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็กควรสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กมีจิตอาสา ทำสาธารณประโยชน์ ตลอดจนสังเกตทักษะด้านอารมณ์ของเด็ก   เพราะปัจจุบันเด็กไทยมีปัญหาเรื่องความกระตือรือร้น ดังนั้นการ “มีจิตอาสา” ใช้ได้ทั้งแก้ไขปัญหา และในเชิงการส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องอารมณ์ เราพบว่าในช่วงวัยของเด็กที่เขาอยากจะเรียนรู้ และเข้าใจคนอื่น วิธีที่ง่ายที่สุดคือการที่รู้จักทำอะไรให้กับคนอื่น  ซึ่งตรงนี้ต้องออกแบบให้เด็กรู้สึกสนุกที่อยากทำอย่างนั้น  เวลาเห็นคนอื่นมีความสุขจะทำให้เด็กอยากทำ  ในวัยเด็กไม่จำเป็นต้องทำเรื่องใหญ่โตมากมาย ควรเริ่มตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน ที่สามารถทำได้เลย เช่นให้เด็กช่วยทำงานบ้าน
        พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า  เด็กไทยมีปัญหาเรื่องการแสดงออกมานานแล้ว  ส่วนหนึ่งไม่กล้าแสดงออก แต่อีกส่วนแสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสม ก้าวร้าว  พฤติกรรมดังกล่าวสัมพันธ์กับความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าหรือไม่  เด็กที่รู้สึกว่ามีคุณค่าพร้อมจะแสดงออก และแสดงออกได้ดี แต่ในทางกลับกันถ้าเด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เขาก็ฝ่อ ไม่กล้าแสดงออก ถ้าสุดโต่งก็อาจจะเรียกร้องแสวงหา แสดงออกในลักษณะก้าวร้าว 
       ถ้าเด็กเติบโตอย่างไม่มีคุณค่า เขาก็ไม่มีความสุข  พอไปดูสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่าเด็กส่วนหนึ่งถูกละเลย ไม่ได้รับการใส่ใจ แต่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งได้รับการใส่ใจเยอะ มีทั้งได้รับการใส่ใจและกดดัน และใส่ใจแล้วตามใจเด็กมาก  ซึ่งการตามใจมาก ๆ จะทำให้เด็กไม่รู้จักพอ  อยากอยู่เสมอ ตอบสนองเฉพาะตัวเอง.

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน


  View : 1.93K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.144.116.159