รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
โรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาสำคัญในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กไทยลดลง ขณะที่โรคอ้วนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เด็กที่เริ่มอ้วนในระยะแรกจะดูจ้ำม่ำ แก้มยุ้ย น่ารัก กินจุ มักเป็นเด็กเลี้ยงง่าย จึงทำให้ผู้ปกครองไม่เห็นอันตรายที่แฝงมากับความอ้วน หรืออาจเข้าใจผิดว่าเด็กจะยืดตัวจนหายอ้วนได้เองเมื่อโตขึ้น จึงปล่อยให้เด็กอ้วนขึ้นเรื่อยๆ บางรายกว่าจะรู้ปัญหาเด็กก็อ้วนอย่างรุนแรง หรือมีโรคแทรกซ้อน เช่น ทางเดินหายใจอุดตัน หรือข้อกระดูกพิการจนเดินไม่ได้เสียแล้ว
ผลเสียของโรค
ข้อเสียของโรคอ้วนมีมากมายและสามารถพบได้ตั้งแต่วัยเด็ก ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดและทางเดินหายใจอุดตัน หัวใจวาย ตับอักเสบ โรคกระดูกและข้อ ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น ในเด็กอายุ 5-17 ปี พบว่า เด็กอ้วนมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าเด็กปกติ โดยมีแนวโน้มเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 2-4.5 เท่า และภาวะไขมันในเลือดสูงเพิ่มขึ้น 3–7 เท่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาทางจิตใจและสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจอีกด้วย
สำหรับผลเสียด้านจิตใจ โรคอ้วนทำให้เสียบุคลิกภาพและถูกล้อเลียน จึงทำให้เด็กเกิดปมด้อยและมีความกดดัน เด็กอ้วนบางคนแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน มีปัญหาในการเข้าสังคม มีปัญหาทางพฤติกรรมและการเรียน เป็นต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้รักษา ผู้ป่วย และครอบครัว
การป้องกัน
โรคอ้วนป้องกันได้โดยการสร้างนิสัยการกินที่ดีตั้งแต่วัยทารก ควรให้ทารกกินนมแม่ กรณีจำเป็นต้องใช้นมผสม ควรชงให้ถูกสัดส่วนและให้ในปริมาณพอดี ไม่ป้อนนมหรืออาหารให้เด็กมากเกินไปเมื่อเด็กอิ่มแล้ว ไม่ควรฝึกให้เด็กกินอาหารรสหวานจัด หรืออาหารที่มีไขมันมากเกินไป รวมทั้งขนมจุบจิบที่ไม่มีประโยชน์
หลักการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง คือ ควรให้อาหารครบ 5 หมู่ ฝึกให้กินผักทุกมื้อตั้งแต่เป็นทารก สำหรับเด็กที่อายุ 1 ขวบขึ้นไปควรได้รับอาหารหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ ดื่มนมวันละ 2–3 แก้ว ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที ไม่ควรให้เด็กดูทีวีหรือเล่นเกมมากเกินไป ถ้าผู้ปกครองปฏิบัติดังนี้และทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีด้วยแล้ว จะทำให้เด็กปลอดภัยจากโรคอ้วนได้อย่างแน่นอน
แพทย์หญิงอุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี