รู้ทันโรคสุกใสก่อนลมหนาวพัดมา

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

           พบมากในเด็กอายุระหว่าง 5-9 ปี หากได้รับเชื้ออีก อาจเกิดการติดเชื้อแฝงและเป็นโรคงูสวัดเมื่อเข้าสู่หน้าหนาวอากาศจะเริ่มเย็น หากร่างกายปรับสภาพไม่ทัน อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา ทั้งโรคไข้หวัด โรคปอดบวม โรคหัด โรคอุจจาระร่วง และโรคสุกใส ที่ระบาดหนักมากในหน้าหนาว
          จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโรคสุกใส ตั้งแต่เดือนมกราคม–กันยายน พ.ศ. 2557 พบผู้ป่วยโรคสุกใส จำนวน 74,299 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งผู้ป่วยโรคสุกใสในปี พ.ศ. 2557 มีมากขึ้นถึง 1.87 เท่า เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2556 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยภาคที่มีอัตราการป่วยสูงสุดคือ ภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ ส่วนกลุ่มอายุที่พบสัดส่วนผู้ป่วยสูงสุด คือผู้มีอายุระหว่าง 5-9 ปี รองลงมาคือ กลุ่มผู้มีอายุ 0-4 ปี คาดว่าช่วงปลายปี พ.ศ. 2557 จะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ประมาณ 3,143 ราย และเดือนธันวาคมอีกประมาณ 3,944 ราย
          โรคสุกใสหรือที่เรียกกันติดปากทั่วไปว่า “อีสุกอีใส” เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาครั้งแรก ส่วนใหญ่จะเป็นไข้สุกใส พบมากในเด็กอายุระหว่าง 5-9 ปี หากได้รับเชื้ออีก อาจเกิดการติดเชื้อแฝงและเป็นโรคงูสวัดได้ ลักษณะอาการทั่วไปของคนที่เป็นโรคสุกใส จะมีผื่นแดงราบขึ้นตามตัว และจะกลายเป็นตุ่มใส ตุ่มหนอง และเป็นสะเก็ดกระจายตามใบหน้า ลำตัว แผ่นหลัง มีไข้ มีอาการคัน และอาจมีอาการปวดศีรษะ หรือปวดเมื่อยตามร่างกาย ทั้งยังเบื่ออาหารด้วย
          โรคสุกใส เป็นโรคติดต่อที่ติดต่อกันได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการติดต่อทางตรงผ่านการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วยเข้าไป เช่นเดียวกับการติดต่อของไข้หวัด นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสน้ำเลือด น้ำหนองจากตุ่มพองใสที่ผิวหนังของผู้ป่วย ส่วนการติดต่อทางอ้อมเป็นการติดต่อโดยการได้รับเชื้อที่กระจายอยู่ในอากาศ หรือการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วนํ้า ช้อนส้อม เป็นต้น ทั้งนี้ โรคสุกใสจะมีระยะฟักตัว 2-3 สัปดาห์ หรือประมาณ 13-17 วัน
การรับมือกับโรคสุกใสทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วย หากจำเป็นต้องอยู่ใกล้ควรใส่ผ้าปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อในระยะต้นจะเริ่มมีไข้ คันตามผิวหนัง และมีตุ่มผื่นขึ้น โรคไข้สุกใสไม่มียารักษาโดยตรง จึงต้องรักษาตามอาการ หากไม่มีโรคแทรกซ้อนก็จะสามารถหายได้เองในระยะเวลาประมาณ 1-3 สัปดาห์ โดยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสุกใสจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็ก
          สำหรับยาที่ใช้รักษาตามอาการ หากมีอาการคันสามารถทาแป้งคาลาไมน์แก้คัน และกินยาแก้แพ้คลอเฟนิรามีน หากมีไข้สูงควรกินยาลดไข้พาราเซตามอล แต่ห้ามกินยาแอสไพรินเด็ดขาด โดยเฉพาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี เพราะอาจทำให้กลายเป็นโรคสมองอักเสบร้ายแรงได้ นอกจากนี้ยังมีการใช้วัคซีนป้องกันโรค เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย
          แม้ว่าโรคสุกใสจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงแก่คนทั่วไป แต่สำหรับคนบางกลุ่มอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่ ทารกแรกเกิด สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด ผู้ที่กินยากดภูมิต้านทาน ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งก่อนและหลังการติดเชื้อ


 


  View : 5.78K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 402
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 7,069
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 43,786
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 836,437
  Your IP : 18.118.32.7