จับตา มือ เท้า ปาก สายพันธุ์รุนแรง

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
         ขณะนี้ประเทศไทยมีความตื่นตัวเรื่องโรคระบาดกันมาก โดยเฉพาะช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดตามฤดูกาล ไข้หวัด 2009 หรือไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากสายพันธุ์เอช 3 เอ็น 2 (H3N2) ที่วัคซีนป้องกันกำลังจะเข้ามาใน เม.ย.นี้ หรือล่าสุดคือโรคไข้กาฬหลังแอ่นซึ่งในประเทศไทยมีการพบประปรายอยู่บ้างนั้น ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเตือนว่า นอกจาก 2 โรคดังกล่าวแล้ว ยังมีอีก 1 โรคที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ “มือ เท้า ปาก”
         เพราะจากการเฝ้าระวังในห้องปฏิบัติการทางคลินิกของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มเกิดการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก สายพันธุ์ เอ็นเทอร์โรไวรัส 71 เพิ่มมากขึ้นในปีนี้
        ทั้งนี้ หากยังจำการระบาดใหญ่ของโรคมือ เท้า ปาก เมื่อปี 2555 ได้ ซึ่งเป็นการระบาดใหญ่ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ที่มีผู้ป่วยเป็นหมื่น ๆ ราย แต่นั่นเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เอ คอกซากี เอ 6 (Coxackie A6) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงถึงชีวิต ส่วนใหญ่มีแค่ไข้ มีตุ่มขึ้นที่มือ ที่ปากเท่านั้น ส่วนผู้เสียชีวิต 2 คนในครั้งนั้นเกิดจากเชื้อเอ็นเทอร์โรไวรัส 71 (Enterovirus 71) เช่นเดียวกับการระบาดหนักและมีผู้เสียชีวิต เป็นจำนวนมากในประเทศกัมพูชา และเวียดนามในปีนั้นก็เป็นเชื้อเอ็นตัวนี้ นี่เอง
         ศ.นพ.ยง บอกว่าเชื้อ เอ็นเทอร์โรไวรัส 71 เป็นเชื้อที่ค่อนข้างจะรุนแรง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อาทิ ภาวะสมองอักเสบ ก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ นํ้าท่วมปอด ถ้าหากถึงขั้นนี้แล้วอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 1 ซึ่งอย่าดูถูกว่าเป็นเพียงตัวเลขร้อยละ 1 เท่านั้น เพราะนี่คือความสูญเสียใหญ่มาก เนื่องจากการรักษาเป็นไปได้ยาก และต้องไม่ลืมนี่คือโรคระบาด!
         “อาการของโรคมือ เท้า ปาก คือมีไข้สูง ไข้ไม่ลด หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ตาลอย มือ ขา มีอาการชักกระตุก ถ้าเป็นในเด็กโตขึ้นมาหน่อยจะมีภาวะเดินเอียง เดินเซ มีตุ่มขึ้น ที่ปาก ที่มือ ที่เท้า หรือตามร่างกาย อย่างอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่ว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยแต่เกิดแล้วโอกาสตายสูง”
         โรคมือ เท้า ปาก มักเกิดในเด็กเล็กอายุ 0-5 ขวบ เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่เต็มที่เท่าไหร่ และติดต่อกันได้จากการสัมผัสเชื้อโดยตรงซึ่งง่ายมากในกลุ่มเด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะระบาดในช่วงฤดูฝน ดังนั้นต้องเสริมมาตรการป้องกันเอาไว้เป็นพิเศษ เพราะตอนนี้ถือว่ายังมีเวลาอีกมากในการเตรียมตัว อาทิ ต้องทำความสะอาดศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นในศูนย์การค้า และสอนให้เด็ก ๆ ล้างมือเป็นประจำ
          และตามมาตรการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำให้ใช้น้ำสบู่ในการล้างมือ ส่วนจะใช้เจลล้างมือร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เอาที่สะดวก หากพบเด็กป่วยควรให้หยุดอยู่บ้านเป็นเวลา 7 วัน หากอาการไม่รุนแรงก็ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น และรับประทานยาพาราเซตามอลเท่านั้นเพื่อลดไข้ ห้ามใช้ยาในกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีแอสไพริน สเตียรอยด์ เพราะยิ่งจะทำให้โรคอาการรุนแรงขึ้น หากอาการรุนแรงขึ้นให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยแจ้งประวัติความเสี่ยงในการสัมผัสโรคของผู้ป่วยให้ทราบด้วย
         เตรียมพร้อมการรับมือตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่าให้ถูกปรามาสว่าวงการสาธารณสุขไทยทำงานแบบ “วัวหายล้อมคอก”.

อภิวรรณ เสาเวียง


  View : 2.09K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,445
 เมื่อวาน 1,702
 สัปดาห์นี้ 4,505
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 24,421
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 906,099
  Your IP : 54.36.148.216