รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
′กรมสุขภาพจิต′แนะดูแลใจ สังเกตสัญญาณเสี่ยง หลังเจอเหตุรุนแรง ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ใช้สุรา ยาเสพติด พยายามหากิจกรรมทำให้เกิดความเพลิดเพลิน พยายามใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติ
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หลังเกิดเหตุรุนแรง เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ เช่น โกรธ หงุดหงิด วิตกกังวล เศร้า ร้องไห้ อาจมีอารมณ์รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมหรือเฉื่อยชาลงมากกว่าเดิม ครุ่นคิด คิดซ้ำๆ ถึงภาพและเหตุการณ์ความรุนแรงที่ได้พบ สับสน ไม่มีสมาธิ เงียบขึ้น หรือแยกตัว นอนไม่หลับ ฝันร้าย ฯลฯ ต้องขอย้ำว่า อาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นปฏิกิริยา“ปกติ” ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ “ไม่ปกติ” โดยอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป บางคนอาจมีอาการเหล่านี้เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนได้ แต่ไม่ควรเกิน 1 เดือน ที่สำคัญ ต้องเข้าใจว่าผู้ที่มีอาการเหล่านี้ไม่ใช่ผู้เจ็บป่วยทางจิตและไม่ใช่ผู้อ่อนแอ แต่อย่างใด อาการที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการแสดงออกทางจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ
ทั้งนี้ สามารถสังเกต 8 สัญญาณเตือน ที่บ่งชี้ว่าบุคคลต้องได้รับการช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือบุคลากรสุขภาพจิต ได้แก่ 1.มีความสับสนรุนแรง 2.รู้สึกถึงเหตุการณ์นั้นอยู่ซ้ำๆ บ่อยๆ หยุดไม่ได้ 3.หลีกหนีสังคม กลัวที่กว้าง ไม่กล้าเข้าสังคม4.ตื่นกลัวเกินเหตุ ฝันร้ายน่ากลัว ควบคุมตนเองให้มีสมาธิไม่ได้ 5.วิตกกังวลมากเกินไปจนทำอะไรไม่ได้ 6.ซึมเศร้าอย่างรุนแรง 7.ติดสุราและสารเสพติดและ 8.มีอาการทางจิต หลงผิด ประสาทหลอน ฯลฯ
สำหรับการดูแลจิตใจตนเองและคนรอบข้างเมื่อประสบเหตุรุนแรง ทำได้โดย พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ใช้สุรา ยาเสพติด พยายามหากิจกรรมทำให้เกิดความเพลิดเพลิน พยายามใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติ ปรึกษา พูดคุย เรื่องไม่สบายใจ หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด หรือจากคนที่ไว้ใจ และ เข้าร่วมกิจกรรมในชุมชมหรือสังคม เช่น การบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมทางศาสนา ฯลฯ ตลอดจน ขอรับคำปรึกษา ได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา : มติชน