โดย ศูนย์ข้อมูลวิชาการ จากเดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 27พฤษภาคม 2555
เห็นภาพความน่ารักของเหล่า “ลิตเติ้ล มอนสเตอร์” แต่งตัวแบบจัดเต็มไปรอต้อนรับ ไปดูคอนเสิร์ต “เลดี้ กาก้า” มอนสเตอร์ตัวแม่ ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า การที่คนเราคลั่งไคล้ดารา นักร้อง หรืออะไรก็ตามถึงขั้นเป็น “สาวก” หรือ “แฟนคลับ” ตัวยง ตามไปกรี๊ด ไปเฝ้า เอาสิ่งของไปให้ อย่างคนดังในบ้านเราหลายคนก็เจอมาแล้ว มันเป็นเรื่องปกติหรือไม่ ?

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผอ.สถาบันราชานุกูล โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า ปกติวัยรุ่นจะมีการแสวงหาไอดอลของเขา ส่วนใหญ่กลุ่มดารา นักร้อง จะเป็นกลุ่มหลักที่เป็นไอดอลสำหรับเขา พอมีไอดอล อย่างแรก คือ อยากเข้าหา เข้าถึง อยากเห็นตัวจริง เป็นรูปแบบที่เข้าไปดูเพื่อเลียนแบบ ไม่ว่าไอดอลทำอะไร ก็อยากจะทำตาม พอเข้าหาไอดอลแล้วก็จะเกิดกลุ่มที่เป็นแฟนคลับ พอเป็นกลุ่มก้อน มันเหมือนส่งผลซึ่งกันและกัน คนนั้นว่าอย่างนั้น คนนี้ว่าอย่างนี้ เด็กมักโน้มเอียงอยากเป็นอะไรที่เหมือนคนกลุ่มใหญ่ ถ้ากลุ่มแฟนคลับบอกว่าต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ก็มีโอกาสที่เขาจะเกาะกลุ่ม เกาะขบวนให้ทัน ถ้ามีคนสะสมอะไร ก็ต้องสะสมให้ได้มากกว่า นำไปสู่กระบวนการที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้

กรณีสาวกชาวไทยของเลดี้ กาก้าที่แต่งกายในแบบต่าง ๆ ก็ไม่ได้ผิดปกติอะไร มันมีเหตุการณ์รองรับ เลดี้ กาก้า มาเมืองไทยแสดงคอนเสิร์ต ก็คอสตูมกันเต็มที่หน่อย แต่ถ้าแต่งทุกวันเดินข้างถนน ใส่วิกเขียวตลอดเวลา ทุ่มเทเงินทอง เกินความสามารถ ไปหาเงินด้วยวิธีไม่ปกติ ไปประมูลของ ใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ ทิ้งหมดทุกอย่าง สอบก็ไม่สนใจ สนใจแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว อย่างนี้ชักเริ่มขยับมาในกลุ่มที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ สภาวะจิตใจมันอ่อนไหวเกินไป ใช้ชีวิตปกติไม่ได้ ผู้ใหญ่ควรเข้าไปดึงออกมา หรือเข้าไปพูดคุยว่า เอ๊ย อย่างนี้มันไม่ใช่แล้วนะ

คือ ถ้าไปถึงจุดหนึ่งที่เขาแยกแยะไม่ได้ เช่น ต้องสะสมของให้ได้ในราคาเกินความสามารถตัวเอง ใช้ทุกหนทางเพื่อได้เงินมา ไม่ไปเรียน ขอตามอย่างเดียว ขาดสอบก็ยอม แสดงว่าระบบการตัดสินใจต่อการใช้ชีวิตมันแยกไม่ได้ว่าเรื่องหลักเป็นเรื่องอะไร หลักวิธีคิด ระบบเหตุผลเริ่มถูกกระทบ ส่งผลกระทบในทางลบต่อการใช้ชีวิต สุดท้ายอาจพบว่าในเด็กกลุ่มนี้บางคนอาจมีภาวะจิตใจไม่ปกติ เรียกว่าเป็นความหลงผิด มีความรู้สึกเหมือนหลงรักคนที่ตัวเองไปชื่นชม เข้าใจผิดด้วยว่าเขาก็ชอบตัวเอง หรือตัวเองก็ชอบเขา แล้วก็มีจินตนาการบางอย่าง และอาจเข้าหาไอดอลแบบไม่ค่อยปกตินัก เช่น โกรธถ้าเขามีข่าว หรือมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องส่วนบุคคล เข้าไปแสดงท่าทีเป็นเจ้าข้าวเจ้าของบางทีน่ากลัว ถ้าถามกลุ่มดาราบางทีก็ตกใจเหมือนกันเพราะเหมือนถูกคุกคาม มันไม่ใช่แค่แฟนคลับธรรมดาแล้ว ลักษณะนี้ในทางจิตวิทยามันข้ามเลยไปจากปกติกลายเป็นความหลงผิด

อย่างบางคนที่ชื่นชอบดารา นักร้อง ติดโปสเตอร์ในห้องนอน ฟังเพลงเฉพาะนักร้องคนเดียว ไม่ฟังเพลงนักร้องคนอื่น ก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าเก็บตัวไม่ออกจากห้องอยู่กับสิ่งของ สร้างอาณาจักรตัวเองขึ้นมาเฉพาะกับตัวไอดอลที่ชอบ ถ้าชีวิตประจำวันเขาตัดทุกอย่างออกหมดเลย เหลือแค่เขากับไอดอล ตรงนี้ไม่ปกติแล้ว

ช่วงวัยรุ่นอาจจะแสดงออกเยอะ พออายุมากขึ้นเรายังเห็นความชื่นชมดาราอยู่ แต่การแสดงออกจะไม่เหมือนตอนวัยรุ่น นอกจากนี้จะเห็นว่า วัยรุ่นด้วยกันก็ไม่ใช่ทุกคนที่คลั่งดารา นักร้อง เขาอาจจะมีไอดอลรูปแบบอื่น เช่น นักกีฬา หรือไอดอลบางคนก็เกี่ยวกับคนดังเลย เราก็จะไม่เห็นเขาไปกรี๊ด ไปเฝ้านักร้อง

ความชอบ ชื่นชมของวัยรุ่นต่อไอดอลก็มีหลายระดับ บางคนก็ชอบฟังเพลงเฉย ๆ ไม่ได้คิดขนาดจะไปเฝ้า ไปตาม ไม่ถึงขั้นเป็นแฟนคลับ แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งบางทีมีจุดเริ่มต้นจาก
การไปดูคอนเสิร์ตไปเจอกลุ่มแฟนคลับ พอไปเจอเริ่มมีกลไกความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่อเพื่อน เวลาโทรฯ มานัด วันนี้มีคอนเสิร์ตนะต้องไป มันเป็นอิทธิพลจากเพื่อนแล้ว
 
เคยมีข่าวดาราไปเรียนหนังสือแล้วแฟนคลับแห่ตามไปกรี๊ด จะแนะนำดาราที่ถูกแฟนคลับตามติดตลอดอย่างไร ? พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ดาราก็ต้องพร้อมรับมือในฐานะบุคคลสาธารณะ แต่เราก็จะเห็นข่าวบ่อย ๆ ว่าบางคนรับมือไม่ดี ก็อารมณ์ไม่ดี เกิดการปะทะกัน บางครั้งถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน แต่ถ้าเราเข้าใจว่า มันเป็นความชอบในช่วงวัยหนึ่ง ก็อยากให้กลุ่มดารา นักร้อง ให้คำแนะนำน้อง ๆ ถึงความเหมาะสมถือเป็นคำแนะนำจากพี่ให้น้อง
ขณะเดียวกันก็ต้องวางขอบเขตเหมือนกันว่าอย่างนี้ได้อย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเราไม่วางขอบเขตให้ชัดเจน กังวล เกรงใจไปหมด แฟนคลับก็รุกเข้ามาเรื่อย ๆ พอถึงจุดหนึ่งมันลำบาก ตรงนี้ก็เห็นใจเหมือนกัน เพราะแฟนคลับบางคนอาจมีภาวะทางจิตไม่ปกติ ก็ต้องยอมรับ ว่าอาจจะมีโอกาสโดนคุกคาม ดังนั้นต้องระมัดระวังเช่นกัน ถ้าไม่มั่นใจว่าดูแลสถานการณ์ได้หรือไม่ ก็อาจแจ้งให้ใครรู้ว่า อาจมีแฟนคลับบางคนที่อยู่ในภาวะไม่ปกติเข้ามา
 
“แม่ยก” ก็แสดงออกในลักษณะเดียวกัน ? พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า กลุ่มแม่ยกก็เป็นอีกรูปแบบ แรงจูงใจคนละแบบ ส่วนใหญ่แม่ยกจะมีความพร้อมในการใช้ชีวิตระดับหนึ่ง กลุ่มนี้จะรู้สึกลึก ๆ ว่าในชีวิตไม่มีอะไรตื่นเต้น ไม่มีอะไรสนุก น่าอภิรมย์ ทีนี้กลุ่มนักร้องส่วนใหญ่มักเป็นหนุ่ม ๆ เมื่อก่อนเป็นลิเกเป็นตัวเอก หน้าตาดี พูดจาไพเราะ มีความรู้สึกเหมือนกับได้ชื่นชม กระชุ่มกระชวยหัวใจ แต่สิ่งที่ตามเหมือนกัน คือ พอเกาะกลุ่มกันมันจะมีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนด้วยกัน เราก็จะเห็นแม่ยกเกทับกัน บางทีก็เป็นความสนุก ตื่นเต้นอีกแบบหนึ่ง เธอให้เท่านั้น ฉันให้เท่านี้ แต่หลักการก็เหมือนกันคือ ต้องไม่เกินเลยขอบเขต ไปทุ่มเงินทุ่มทอง บ้านช่องเดือดร้อน ไม่ได้ดูแลบ้านเลย ไม่กลับบ้านเลย อันนี้ไม่ได้แน่นอน เพราะความรับผิดชอบเราในฐานะอื่นยังมีอยู่ และสุดท้ายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนที่เราไปชื่นชม ก็ต้องเคารพความเป็นส่วนตัวเขาด้วย

แฟนคลับดารา นักร้อง มักเป็นผู้หญิงเยอะกว่าผู้ชาย? พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า อาจเป็นเพราะมิติทางสังคมเปิดพื้นที่เรื่องนี้ให้ผู้หญิงเยอะมากกว่า อีกทั้งไม่ใช่รูปแบบหรือวิถีแบบผู้ชายที่จะแสดงออกในลักษณะดังกล่าว ผู้หญิงอาจจะมีมุมด้านนี้มากกว่าผู้ชาย

ท้ายนี้อยากฝากไปยังคนที่คลั่งดารา นักร้อง ว่า เรามีต้นแบบ มีตัวอย่างของคนอื่น ๆ ได้ แต่เรากับเขาไม่ใช่คน  ๆ เดียวกัน เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถเป็นทุกอย่างที่เขาเป็นและเขาก็ไม่ใช่ทุกอย่างที่เราจะเป็น เราควรเลือกบางส่วนที่ดีที่สุดมา.

นวพรรษ  บุญชาญ


  View : 7.02K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สมาธิสั้น
04 เม.ย. 2556

 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 18.224.149.242