กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำ การพอเพียงอย่างมีสติ ทำจิตอาสา ช่วยสร้าง จิตดี๊ดี...มีสุข...สนุกกับงาน เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก 2560

วันนี้ (10 ต.ค. 60) นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดงานเนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2560 (World Mental Health Day 2017) ภายใต้แนวคิด “Mental health in the workplace : จิตดี๊ดี...มีสุข...สนุกกับงาน” ร่วมด้วย นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตและคณะผู้บริหาร เพื่อสร้างความตระหนัก และสนับสนุนให้เกิดการจัดบริการที่ดีต่อสุขภาพจิตคนทำงาน มีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างสุขในองค์กรและการสร้างสุขให้ตนเองในการทำงาน กิจกรรมและนิทรรศการความรู้ อาทิ รำลึกถึง “ร.9 คีตราชัน” โดย วงดุริยางค์ทหารบก กิจกรรม “ขยับกาย ชีวีมีสุข” โดย กรมอนามัย “เครียดได้ ก็หายได้”“สุขสร้างได้ เสริมพลังใจ คนวัยทำงาน” “การจ้างงาน...ออทิสติก” และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าผู้ป่วย โดย หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย คณะผู้บริหาร ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพจิตให้กับบุคลากรจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนผู้แทนจากองค์กรเอกชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และแกนนำชุมชนที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพจิตให้กับประชาชน รวมประมาณ 100 คน

นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต  กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงานในทั่วโลกที่พบบ่อย คือ โรคซึมเศร้า ประมาณ 300 ล้านคน และ ภาวะเครียด โรควิตกกังวล ประมาณ 260 ล้านคน เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของเราจะอยู่ในช่วงเวลาของการทำงาน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ หากมีประสบการณ์การทำงานที่ดี ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและผลผลิตของงาน ตรงกันข้าม หากมีประสบการณ์การทำงานที่ไม่ดี ย่อมส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต เกิดปัญหาสุขภาพตามมา อาจใช้ยาเสพติด สุรา และหยุดงาน สำหรับประเทศไทย ปัญหาสุขภาพจิตวัยทำงาน (ช่วงอายุ 20 - 59 ปี) ที่น่าห่วง คือ ปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งพบว่า เป็นกลุ่มวัยที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด อยู่ที่ 8.04 ต่อแสนประชากร โดยเฉพาะอายุระหว่าง 35-39 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุด 9.55 ต่อแสนประชากร และจากสถิติการขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตของวัยทำงาน ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า ปัญหาทางจิตเวช เป็นปัญหาสำคัญลำดับแรกที่วัยทำงานโทรเข้ามาปรึกษามากที่สุด จำนวน  20,102 คน รองลงมา คือ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล จำนวน 17,347 คน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพกาย โรคเรื้อรัง มีหนี้สิน ฯลฯ ปัญหาความรัก จำนวน 4,776 คน ปัญหาครอบครัว 2,513 คน และซึมเศร้า 2,085 คน ตามลำดับ 

กรมสุขภาพจิตได้พัฒนากระบวนการดำเนินงานให้สอดรับกับสถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนทั่งประเทศ ยกระดับการดำเนินงานที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มวัย สอดรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่การเป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพที่รวมพลังสังคม เพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน เป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้ประชาชนในประเทศอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยในกลุ่มวัยทำงานได้จัดให้มีโปรแกรมสร้างสุขทั้งในสถานประกอบการและในชุมชน ในสถานประกอบการจะเน้นไปที่ 3 กิจกรรมหลักเพื่อพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.กิจกรรมนันทนาการ เพื่อสร้างความผ่อนคลาย สร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

2. กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เพี่อสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ให้สามารถปรับตัวได้กับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง จัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม และ 3.กิจกรรมการเห็นคุณค่าของพนักงานและครอบครัว เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองและครอบครัวที่สามารถทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้และมีคนยอมรับ ซึ่ง จะประกอบด้วย 6 Module ในการสร้างสุข ขณะที่ชุมชน จะประกอบด้วย 8 เครื่องมือในการสร้างสุข ทั้งนี้ แนวทางสร้างสุขทั้งในสถานประกอบการและชุมชน ที่สามารถทำได้ง่าย คือ การพอเพียงอย่างมีสติ และทำจิตอาสา ซึ่งการพอเพียงอย่างมีสติ พึงพอใจในสิ่งที่มี จะทำให้เรารู้จักความพอดี มีความสุขกับชีวิตตามอัตภาพ ไม่ยึดติด และปล่อยวางได้ ขณะที่ การทำจิตอาสา ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ไม่ว่าจะในชุมชน หรือการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในองค์กร ด้วยการสร้างสุข คลายทุกข์ ร่วมจิตร่วมใจชวนกันทำดี ช่วยเหลือเพื่อนพนักงาน ล้วนทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในตนเอง และมีความสุขจากการเป็นผู้ให้ โดยไม่หวังผลตอบแทน อธิบดีกรมสุขภาพจิต  กล่าว

ด้าน นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า โปรแกรมสร้างสุขในสถานประกอบการ 6 Module  ได้แก่ 1.ฝึกมองโลกในแง่ดี มองจุดดีของตนเอง มองเห็นสิ่งดีๆ ในสิ่งที่ไม่ดี ทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ไข ไม่คงอยู่เสมอไป คลี่คลายได้ตามกาลเวลา 2.ปรับเปลี่ยนความคิด เปิดใจกว้าง มองรอบด้าน ลดอคติและทิฐิ สร้างกำลังใจ ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเป็นสุข 3.สร้างความเข้มแข็งทางใจ ด้วยพลัง อึด – ควบคุมอารมณ์ อดทนตั้งสติ เตรียมรับมือกับปัญหา ฮึด – สร้างกำลังใจ ไม่สิ้นหวังท้อถอย มองทุกปัญหามีทางออก สู้ – ลุกขึ้นเผชิญหน้า หาแนวทาง วางเป้าหมาย ไม่รีรอ เร่งแก้ไข ใช้วิธีที่เหมาะสม 4.สร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่องค์กรสร้างสุข ยอมรับความคิดเห็น เน้นการมีส่วนร่วม ร่วมสร้างแนวทางหลัก ชักชวนให้ปฏิบัติ จัดทำเป็นวัฒนธรรมองค์กร 5.มีหลักพักใจในการดำเนินชีวิต ค้นหาพลังใจ อิงหลักคิดในการดำเนินชีวิต เช่น ความกตัญญู ศาสนา การให้อภัย  เมื่อวิกฤตก็ให้ใช้เป็นพลังฟื้นฟูใจ และ 6. พึงพอใจในสิ่งที่มี พอดีในความพอเพียง รู้จักพอเพียง พอใจในสิ่งที่มี พอดีในสิ่งที่ได้

สำหรับ 8 เครื่องมือสร้างสุขในชุมชน ได้แก่ 1.ค้นหาจุดดีของตนเอง มองหาสิ่งดีของตนเอง แล้วอย่าเก็บไว้ นำออกมาใช้อย่างสร้างสรรค์ 2.ค้นหาจุดดีของผู้อื่น เปิดใจค้นหา มองว่าคนอื่นก็มีดี ชื่นชมผู้อื่นอย่างจริงใจ 3.เพิ่ม 3 อ. ขจัดสุรา สารเสพติด บุหรี่ รับประทาน อาหาร ให้ครบ 5 หมู่ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกาย ครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ อารมณ์แจ่มใส จัดการความเครียดได้รู้จักผ่อนคลาย หลีกเลี่ยง ลด ละ เลิกบุหรี่ สุรา และสารเสพติด 4.ครอบครัวอบอุ่น ทำกิจกรรมร่วมกัน ให้เวลา ให้ความรัก เป็นที่พักพิงทางใจ ใส่ใจรับฟัง แบ่งปันทุกข์สุข 5.สมดุลชีวิต ด้วยหลัก 8-8-8 ฉลาดจัดการเวลา นอนหลับให้เต็มที่ ทำงานอย่างดีเต็มความสามารถ อย่าให้ขาดสร้างสุขในครอบครัว 6.เป็นจิตอาสาและทำประโยชน์ให้ผู้อื่น แบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่นตามความสามารถ หาโอกาสทำประโยชน์ต่อสังคม 7.มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ค้นหาพลังใจ อิงหลักคิดในการดำเนินชีวิต เมื่อวิกฤตให้เป็นพลังฟื้นฟูใจ และ 8.พึงพอใจในสิ่งที่มี ด้วยการรู้จักพอเพียง พอใจในสิ่งที่มี พอดีในสิ่งที่ได้ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

  View : 1.74K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 18.205.67.119