ระวังอันตรายรอบกายเด็ก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

          อุบัติเหตุที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตอันดับ 1 คือ จมน้ำ อันดับ 2 อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และการถูกรถชน อันดับ 3 การขาดอากาศหายใจจากสาเหตุต่าง ๆ
          จากกรณีเด็กหญิงวัยขวบเศษ พลัดตกลงไปในหม้อต้มยํา คงเป็นอุทาหรณ์ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนได้ตระหนักและเฝ้าระวังความปลอดภัยให้แก่บุตรหลานมากยิ่งขึ้น เพราะอุบัติเหตุไม่ได้มีเรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้น ถ้าประมาทอาจจะทำให้เด็กถึงแก่ชีวิตได้
           รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า อุบัติเหตุที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตอันดับ 1 คือ จมน้ำ อันดับ 2 อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และการถูกรถชน อันดับ 3 การขาดอากาศหายใจจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น สิ่งของอุดตันหลอดลม เส้นสายรัดคอ เด็กมุดไปในช่องรูต่าง ๆ แต่ถ้าเด็กโตเกิน 6 ขวบ จะเป็นไฟฟ้าดูด อันดับ 4 พลัดตกจากที่สูง ส่วนสาเหตุอื่น ๆ เช่น ความร้อนจากน้ำ จากไฟ ของหนักตกทับ
           เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ เป็นกลุ่มที่พ่อแม่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะพัฒนาการยังไม่สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยง หรือทำความเข้าใจกับความเสี่ยงรอบตัวเขาได้ เด็กจะไม่รู้เหตุรู้ผล คิดอะไรก็ทำอย่างนั้น
ถ้าอายุต่ำกว่า 3 ขวบ พ่อแม่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องมองเห็นและคว้าถึง รัศมีของเด็กต้องอยู่ในวงแขนของพ่อแม่คว้าถึง จะไม่มีการละสายตาจากเขา
           เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ พ่อแม่จะดูแลใกล้ชิดอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กให้ปลอดภัย เพราะพ่อแม่ต้องเห็นตลอดเวลา แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่พ่อแม่จะเห็นตลอดเวลา ดังนั้นพ่อแม่ต้องจัดการสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ดี เพราะอุบัติในเด็กต่ำกว่า 6 ขวบ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบ้าน และรอบ ๆ บ้าน
           อายุเกิน 6 ขวบขึ้นไป มักจะประสบอุบัติเหตุไกลตัวบ้านออกไป แต่ยังอยู่ในละแวกชุมชน อายุ10 ขวบขึ้นไป จะไปเกิดอุบัติเหตุไกลจากชุมชน เด็กในวัยนี้พ่อแม่ไม่สามารถมองเขาได้ตลอดเวลา เพราะเด็กต้องไปโรงเรียน มีกลุ่มเพื่อน
          ดังนั้นถ้าอายุเกิน 6 ขวบ พ่อแม่จะต้องสอนทักษะความปลอดภัยให้เขา เช่น ความปลอดภัยทางน้ำ ต้องรู้จุดเสี่ยง ต้องลอยตัวตามน้ำได้ ต้องช่วยเพื่อนได้ จะต้องไม่เล่นบนถนน ต้องข้ามถนนตรงทางที่กำหนดไว้ เวลานั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างต้องใส่หมวกนิรภัย นั่งรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ต้องสอนให้เด็กเข้าใจเหตุผลและปฏิบัติได้ แต่ถ้าไม่สอน หรือทำตัวอย่างไม่ดี เขาก็จะไม่ปฏิบัติ ขณะเดียวกันชุมชนต้องจัดการพื้นที่เล่นสำหรับเด็กให้ปลอดภัย สนามเด็กเล่นต้องมีฐานราก เพื่อให้เด็กมีที่เล่นอย่างปลอดภัย ขณะเดียวกันกฎหมายก็ต้องเข้ามาช่วย เช่น การบังคับให้เด็กสวมหมวกนิรภัย หรือ คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง
             กรณีที่เด็กตกลงไปในหม้อต้มยำ ก็เป็นอุทาหรณ์ว่า เด็กต้องอยู่ในระยะสายตา พ่อแม่ต้องคว้าถึง เด็กจะต้องไม่อยู่ไกลเกินวงแขนพ่อแม่ ไม่วางของร้อนในบริเวณบ้าน ไม่มีแหล่งน้ำในบริเวณที่เด็กปีนป่ายถึง ถ้ามีต้องกั้นรัว ทำประตูปิด ปลั๊กไฟต้องสูงเกินกว่า 1.50 เมตร หรือซื้อที่ครอบปลั๊กไฟ กาน้ำร้อนต้องไม่ปล่อยสายห้อยลงมาให้เด็กกระตุกถึง มีประตูกั้นบริเวณบันไดไม่ให้เด็กปีนได้ ลิ้นชักต้องปิด ไม่ให้เด็กคว้ามีดมาเล่นได้
นอกจากนี้ยังมีกรณี เด็กประสบอุบัติเหตุโดนน้ำร้อนลวก เพราะถูกพ่อแม่ทำร้ายเด็ก เอาเด็กจุ่มลงไป แต่มาโกหกว่าเด็กตกลงไปในหม้อแกงก็เคยมีเช่นกัน ดังนั้นถ้าเด็กมาโรงพยาบาลเพราะตกลงไปในหม้อแกง จะต้องแยกระหว่างอุบัติเหตุกับโดนทำร้าย ซึ่งในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุ แต่ในต่างประเทศมักจะเป็นการทำร้ายเด็กมากกว่า.

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน


  View : 3.43K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,321
 เมื่อวาน 737
 สัปดาห์นี้ 5,981
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 22,622
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 871,790
  Your IP : 17.241.219.78