ภารกิจฟื้นฟูจิตใจ

 เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์ สถาบันราชานุกูล    

    เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 หรือ 8 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันใน 6 จังหวัดภาคใต้ คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ซึ่งเป็นครั้งที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมาก เป็นภัยทางธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากถึงประมาณ 220,000 คน นับเป็นอันดับ 3 ของโลกเท่าที่มีการบันทึกไว้ แม้เหตุการณ์ครั้งนั้นจะผ่านพ้นไปแล้ว จนถึงวันนี้สภาพบ้านเรือน ชุมชน ที่ถูกธรรมชาติทำลายได้กลับฟื้นคืนสภาพจนแทบสังเกตไม่เห็นแล้วว่าเคยเกิดอะไรขึ้น แต่สภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจำนวนมาก ที่ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าเพราะสูญเสียพ่อ แม่ ผู้ปกครอง บุคคลอันเป็นที่รัก จะได้รับการฟื้นฟูช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้มีความเข้มแข็งพอที่จะลุกขึ้นมาดูแลและพึ่งพาตัวเองได้เมื่อยามเติบใหญ่
         นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในประเทศไทยมีเด็กกว่า1,400 คน ที่ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ในขณะที่อีกกว่า 50,000 คน ต้องสูญเสียครูอันเป็นที่รัก หรือโรงเรียนได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องได้รับการดูแลฟื้นฟูจิตใจและให้ความช่วยเหลือด้านสังคมอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันและต้องใช้เวลา เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิต มีการเรียนรู้ มีพัฒนาการสมตามวัย โดยกรมสุขภาพจิตได้จัดส่งหน่วยจิตแพทย์ลงพื้นที่ติดตามการดูแลและฟื้นฟูจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่วัยแรกคลอดถึงอายุ 3 ขวบ ซึ่งเริ่มติดตามครั้งที่ 1 เมื่อปี 2549 ติดตามในครั้งที่ 2 เมื่อปี 2552 และเมื่อปี 2555 ในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา เพื่อเฝ้าระวังดูพัฒนาการของเด็ก
         ทั้งในเรื่องของพัฒนาการทางสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็ก เพื่อให้การช่วยเหลือหากพบว่าเด็กมีปัญหาสุขภาพจิต ทั้งนี้ผลการติดตามในปี 2555 จากเด็กกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในเหตุการณ์สึนามิ ที่ขณะนี้ส่วนใหญ่จะเรียนอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2-4 มีเด็กที่อยู่ในระบบติดตามที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องเพราะมีความเสี่ยงสูง 157 คน แยกเป็น จ.พังงา 90 คน จ.กระบี่ 35 คน และ จ.ภูเก็ต 32 คน มีบางส่วนที่ได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นและมีการเสียชีวิต
          ผลการติดตามโดยใช้เครื่องมือในการวัดระดับสติปัญญา (IQ), วัดความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และวัดจุดแข็ง จุดอ่อน และพฤติกรรม (SDQ) โดยสรุปพบว่าเด็กที่ทีมติดตามตรวจวัดทั้ง 3 จังหวัด ระดับสติปัญญาโดยเฉลี่ยของเด็กที่ได้รับผลกระทบต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กไทยทั่วไปในวัยเดียวกัน ทั้งค่าเฉลี่ยของภาคใต้และค่าเฉลี่ยของประเทศที่สำรวจโดยกรมสุขภาพจิตในปี 2554 มีจำนวนหนึ่งเข้าข่ายสติปัญญาทึบ ส่วนความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ไม่แตกต่างจากค่าเฉลี่ยทั่วไปของเด็กวัยเดียวกันทั้งของภาคใต้และของประเทศที่สำรวจโดยกรมสุขภาพจิตในปี 2554 เช่นเดียวกันปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาพฤติกรรมของเด็กที่ได้รับผลกระทบพบว่ามีความเสี่ยงสูงร้อยละ 30 มีปัญหาแล้วร้อยละ 8 ตัวอย่างปัญหาพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมการแสดงออกของอารมณ์ไม่เหมาะสม, อยู่ไม่นิ่ง, ไม่มีสมาธิ, เกเร, ปัญหาความสัมพันธ์ของเพื่อนและสัมพันธภาพกับสังคม เป็นต้น
          “ภายในปี 2556 นี้ รพ.วชิระภูเก็ต จะมีการเปิดอาคารบ้านคุณพุ่ม ที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณพุ่ม เจนเซ่น พระโอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ นอกจากนี้อาคารบ้านคุณพุ่มยังใช้เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยพัฒนารูปแบบการดูแลปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเด็ก ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรในการดูแลจิตใจเด็กประจำภาคใต้  (Teaching Center) ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งให้การรักษา ฟื้นฟู และดูแลด้านพัฒนาการแก่เด็กด้วย ถือเป็นศูนย์กระตุ้นพัฒนาการและรักษาเด็กอย่างครบวงจร โดยจะมีห้องบำบัดต่าง ๆ เช่น ห้องธาราบำบัดเพื่อฝึกเด็กที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวจากสมองพิการ หรือห้องแก้ไขการพูด การได้ยิน การมองเห็น เนื่องจากเด็กออทิสติกจะมีปัญหาและต้องการ การกระตุ้นพัฒนาการที่ต่างกันออกไป หากเด็ก ๆ ได้รับการพัฒนาแต่เนิ่น ๆ อาการต่าง ๆ ก็จะดีขึ้นตามลำดับ และสามารถเติบโตเป็นบุคลากรที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคตด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
            ทางด้าน “น้องออม” เด็กหญิงวัย 13 ปีหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ “สึนามิ” เมื่อ 8 ปี ที่แล้วเล่าว่า จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอไม่เคยเห็นหน้าพ่ออีกเลย และที่สำคัญที่อยู่อาศัย ทรัพย์สินเสียหาย ต้องย้ายมาอยู่กับพี่สาวที่วัยไล่เลี่ยกัน เพราะแม่ได้ย้ายไปอยู่ต่างประเทศกับแฟนใหม่ ทำให้ไม่ได้เจอกันเพราะอยู่ห่างไกลกัน เธอกับพี่สาวต้องย้ายที่อยู่หลายแห่งเพื่อหางานทำและต้องดิ้นรนหาเงินเลี้ยงดูตัวเองและเรียนหนังสือไปพร้อม ๆ กัน จึงทำให้ในบางครั้งไม่มีสมาธิในการเรียนเพราะต้องคิดหลายเรื่อง แต่ปัจจุบันได้คุยกับจิตแพทย์ทำให้เธอมีกำลังใจและสู้ต่อไป เพราะอนาคตจะสดใสได้ขึ้นอยู่กับปัจจุบันที่กำลังทำ
         ทั้งนี้จากการประเมินพัฒนาการทางสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ และพฤติกรรมของน้องออมพบว่าระยะแรกมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ผลระดับสติปัญญาอยู่ในระดับปานกลาง ความฉลาดทางอารมณ์ในภาพรวมพบว่าสูงกว่าเกณฑ์ส่วน      ด้านพฤติกรรมพบว่ามีปัญหาด้านสัมพันธภาพกับเพื่อน ส่วนด้านอื่น ๆปกติ     

        ด้าน พญ.เบญจพร ปัญญายง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่าจากการติดตามฟื้นฟูสภาพจิตใจและดูแลพัฒนาการเด็กปฐมวัยในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตเด็กจะขึ้นอยู่กับ 1. ความสูญเสียที่เด็กได้รับว่ามากน้อยแค่ไหน เช่น หากเด็กสูญเสียทั้งพ่อและแม่ ก็ต้องดูแลให้มากกว่าเด็กที่ยังมีพ่อหรือแม่อยู่ รวมถึงสถานะของครอบครัวที่เด็กอาศัยอยู่ด้วย 2. ลักษณะของเด็กในการปรับตัวว่าทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน 3. การสูญเสียซ้ำซึ่งจะทำให้เด็กมีสภาพจิตใจที่แย่กว่า ผู้ใหญ่มักคิดไปเองว่า หากเด็กได้รับความสูญเสียก็จะใช้เวลาในการลืมไม่นานหรือไม่มีรอยแผลในใจ แต่ความจริงแล้วเด็กไม่มีวิธีแสดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมาเหมือนผู้ใหญ่ เช่น ร้องไห้ ซึมเศร้า เมื่อเด็กต้องสูญเสียซ้ำ เช่น ต้องย้ายไปอยู่กับครอบครัวอื่นเรื่อย ๆ ก็จะแสดงออกทางอารมณ์ เช่น ก้าวร้าว อ่อนไหวง่าย ขี้ตกใจง่าย ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ เป็นต้น
           “การติดตามเด็กจะแบ่งได้หลายกลุ่ม กลุ่มที่อยู่ในวัยรุ่นจะเป็นกลุ่มที่จำความได้ในช่วงเหตุการณ์สึนามิ ส่วนเด็กที่สูญเสียทั้งครอบครัวและต้องอาศัยในศูนย์พักพิงต่าง ๆ เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เด็กกลุ่มนี้จะมีความสูญเสียสูงส่วนมากจะมีปัญหาในเรื่องความก้าวร้าว ส่วนเด็กเล็ก 7-8 ขวบ ซึ่งเกิดระหว่างหรือหลังจากเหตุการณ์สึนามิ ปัจจัยที่ทำให้กระทบคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในชุมชนที่ไม่เหมาะสมกับพัฒนาการ โดยเฉพาะในครอบครัวที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง สูญเสียจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ มีภาวะซึมเศร้าหรือดื่มเหล้าจัด ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการ ต่อสติปัญญาและต่อการเรียนรู้ของเด็กด้วย”.


ขอขอบคุณที่มา : http://www.dailynews.co.th/thailand/180270  


  View : 4.50K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 13.58.151.231