รวบรวมข้อมูลโดยฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
ในผู้ใหญ่การนอนกรนอาจนำมาซึ่งการหยุดหายใจและสมองเสื่อมได้ แต่ในเด็ก แม้การนอนกรนจะเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ทางผ่านลมจากจมูกลงสู่ปอดแคบลง ต่อมอะดีนอยด์โตเป็นสาเหตุที่พบบ่อยอย่างหนึ่ง
ต่อมอะดีนอยด์คืออะไร
ต่อมอะดีนอยด์เป็นต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังของโพรงจมูก ทำหน้าที่ในการกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคคออักเสบ โรคโพรงไซนัสอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือโรคหลอดลมอักเสบ เป็นต้นต่อมอะดีนอยด์โตได้อย่างไร
สาเหตุที่ทำให้ต่อมอะดีนอยด์โต ได้แก่
1. การติดเชื้อเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง โรคโพรงไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
2. โรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ของเยื่อบุโพรงจมูก หรือโรคแพ้อากาศ
3. การติดเชื้อเรื้อรังของต่อมอะดีนอยด์
โดยส่วนใหญ่จะพบต่อมทอนซิลโตร่วมกับต่อมอะดีนอยด์โต เนื่องจากต่อมทอนซิลเป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณภายในช่องคอ ซึ่งทำหน้าที่เช่นเดียวกับต่อมอะดีนอยด์เด็กที่มีต่อมอะดีนอยด์โตจะมีอาการอย่างไร
เด็กที่มีต่อมอะดีนอยด์โตจะมีอาการของทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น เช่น หายใจไม่สะดวก หายใจมีเสียงดัง นอนอ้าปาก เนื่องจากมีการหายใจทางปาก นอนกรน สะดุ้งตื่นกลางดึก หรือมีภาวะหยุดหายใจ เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงตอนกลางคืนขณะที่เด็กมีการนอนหลับสนิทภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคต่อมอะดีนอยด์
1. เด็กจะรู้สึกง่วง หรืออ่อนเพลียในช่วงเวลากลางวัน จากการนอนหลับไม่เต็มที่ ทำให้ผลการเรียนตกต่ำลง
2. มีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่ง สมาธิสั้น
3. มีการหลั่งของฮอร์โมนที่จำเป็นในการเจริญเติบโตลดน้อยลง เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวจะหลั่งในขณะที่เด็กมีการนอนหลับสนิท
4.มีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกใบหน้า ทำให้รูปหน้ารีเป็นรูปไข่ จากการโก่งตัวสูงขึ้นของกระดูกเพดานปาก และมีการยื่นออกของฟันหน้าจนผิดรูป ซึ่งเกิดจากการที่เด็กหายใจทางปาก
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ การขาดออกซิเจนในช่วงของการนอนตอนกลางคืนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันเลือดในปอดสูง เป็นต้น
การรักษาโรคต่อมอะดีนอยด์โต
นอกจากการรักษาโรคที่พบร่วมด้วยแล้ว แนวทางการรักษาโรคต่อมอะดีนอยด์โต อาจแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี
1. การรับประทานยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์ผ่านจมูก ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 4-6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามเด็กอาจมีอาการกลับเป็นซ้ำได้ หากมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรือมีการกำเริบของโรคแพ้อากาศ
2. การผ่าตัดรักษา
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ คือ
- กรณีที่เด็กไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการรับประทานยา และยาพ่นสเตียรอยด์
- กรณีที่เด็กมีภาวะหยุดหายใจ
- กรณีที่เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังกับมีน้ำคั่ง หรือโรคโพรงไซนัสอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ จะเกิดผลเสียต่อเด็กหรือไม่
การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์จะไม่เกิดผลเสียในด้านลดความสามารถของร่างกาย ในการกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายเนื่องจากร่างกายมีระบบต่อมน้ำเหลืองอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถทำงานทดแทนต่อมอะดีนอยด์ที่ถูกตัดออกไป รวมถึงบทบาทของต่อมอะดีนอยด์ก็จะลดน้อยลงและต่อมจะมีขนาดเล็กลงในเด็กที่อายุมากกว่า 5-7 ปี
ข้อมูลจาก นายแพทย์ปรีดา สง่าเจริญกิจ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน ศูนย์ภูมิแพ้ แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลพญาไท 1
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์