รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันผู้สูงอายุสากล” (International Day of Older Persons) โดยกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ต.ค. 1991 (พ.ศ.2534) เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยเองได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสงกรานต์ และวันปีใหม่ของไทย เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ
ทั้งนี้ แนวทางอยู่อย่างมีความสุขในวัยเกษียณอย่างแรก คือ ต้องสร้างคุณค่าให้ตัวเอง(building self-esteem)
ทำในสิ่งดีๆ ให้กับตนเองและผู้อื่น ช่วยผู้อื่นและสังคมตามที่ทำได้ มีเป้าหมายชีวิต ไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ทำความสำเร็จเล็กๆ ในแต่ละวัน และมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ นั้นเสมอ อย่างที่สองคือ สร้างสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ตนเอง (Building better health and good mental health)
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การตรวจสุขภาพ การฝึกจิต ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้สดใส ซึ่งกายดี ใจดี สร้างได้ไม่ยาก หลักการ คือ จะเริ่มที่ใดก่อนก็ได้ ระหว่าง กาย ใจ และการกระทำ ทดลองได้ เช่น ถ้าใครทำให้โกรธ ลองยิ้มดู ใจจะเริ่มหายขุ่นมัว และร่างกายก็จะสงบ หรือจะเริ่มที่คิด คือนับ 1-10 ก็จะสงบใจได้ หรือเริ่มที่กาย เมื่อโกรธใคร ก็พาตัวเดินออกไปให้ไกลคนที่โกรธ ใจก็จะสงบ หายโกรธได้
ที่สำคัญ เมื่อใดที่รู้สึกหดหู่ เหงา เศร้า ไม่สดชื่น ต้องรู้ตัว รีบปรับตัว อยู่กับคนที่รัก ไปพบเพื่อนฝูง พูดคุยปรึกษาปัญหา ทำกิจกรรมที่ชอบ ช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าทำทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ และอย่างที่สาม คือ สร้างกิจกรรมที่หลากหลาย(building physical activities) เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่ยังคงความหนุ่ม ความสาว(active aging) ชะลอความเสื่อม ให้นานที่สุด ซึ่งตามสภาวะของร่างกาย สามารถทำได้ทั้งกิจกรรมในบ้านนอกบ้าน ทำคนเดียวหรือเป็นกลุ่ม งานบ้าน งานสวนเดินเล่น เข้าชมรม เล่นกีฬา ปั่นจักรยาน ออกกำลังกาย ตามความชอบความพอใจ รสนิยม และบริบทการใช้ชีวิต เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง และร่างกาย ให้มีความคล่องแคล่ว ว่องไว เป็นต้น