ผลวิจัยชัด “เด็กบกพร่องการเรียนรู้” เรียนสายอาชีพได้

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
 
         ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เรียนที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาทางการเรียนรู้และพฤติกรรมสูงถึง 254,576 คน ข้อมูลจากสำนักบริหารการศึกษา สพฐ. ปี 2558 พบว่า มีจำนวนนักเรียนในระบบการศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ 224,223 คน บกพร่องทางสติปัญญา 20,275 คน พฤติกรรมหรืออารมณ์ 5,560 คน และ ออทิสติกถึง 4,518 คน 
         เช่นเดียวกันการจัดการศึกษา ต้องรองรับคนกลุ่มนี้ด้วยภายใต้ภารกิจสำคัญ เปลี่ยนภาระให้เป็นพลังคืนสู่สังคม
         วณิชย์ อ่วมศรี รองเลาขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เล่าว่า แนวทางการจัดการศึกษาสายอาชีพเพื่อการมีงานทำสำหรับผู้เรียนที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาทางการเรียนรู้และพฤติกรรม ที่ผ่านมามีความร่วมมือกันระหว่างสอศ. สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการวิจัยและทดลองจัดการเรียนการสอนในวิทยาลัยสารพัดช่าง 6 แห่งนำร่อง ซึ่งผลวิจัยยืนยันชัดว่า ผู้เรียนที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาทางการเรียนรู้และพฤติกรรมสามารถเรียนสายอาชีพได้ โดยมีการปรับหลักสูตรที่เหมาะสม เช่น หลักสูตรฝึกอาชีพระยะสั้นที่มีความยืดหยุ่น การพัฒนาคนรวมทั้งจัดสภาพวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้
         “การศึกษาสายอาชีพมีความเหมาะสมสำหรับผู้เรียนที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาทางการเรียนรู้เพราะได้ฝึกปฏิบัติจริงซึ่ง สอศ. มีแนวคิดที่จะเตรียมระบบรองรับแก่ผู้พิการ ส่งต่อข้อมูลจากผู้พิการจากโรงเรียนไปยังอาชีวศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จะคอยแนะแนวให้ความรู้จัดหลักสูตรรองรับ ทดลองนำร่องที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมกับการหาต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะกลุ่มบุคคลออทิสติกที่ยังขาดโอกาสอยู่มาก” รองเลขาฯ สอศ. กล่าว
          วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ตัวอย่างการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาทางการเรียนรู้และพฤติกรรม
         สุรีรัตน์ ทักษะวสะ หรือ ครูเล็ก ครูชำนาญการศึกษาพิเศษ หัวหน้าศูนย์สนับสนุนและบริการช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาผู้พิการ เล่าว่า สถานศึกษาจะส่งผู้พิการมายังวิทยาลัยเพื่อศึกษาต่อในหลักสูตรระยะสั้น หรือศึกษาต่อในระดับ ปวช. และ ปวส. ตามความถนัดและสนใจ รวมถึงการส่งครูไปสอนผู้พิการตาม
         สถานศึกษาเพื่อฝึกอาชีพระหว่างเรียน เช่น การสอนเสริมวิชาเสริมสวยในโรงเรียนกาวิละวิทยาลัยแก่นักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ เพื่อเป็นรายได้เสริมระหว่างเรียน
นอกจากนี้ยังได้ประสานภาคเอกชนเพื่อส่งต่อนักศึกษาให้เข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการ เช่น บ.นิ่มสี่เส็ง เชียงใหม่ ที่รับนักศึกษาออทิสติก ปวช.สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจเข้าทำงานตำแหน่งธุรการเพื่อคอยลงข้อมูลและซ่อมคอมพิวเตอร์ ร้านเอเชียบุ๊ค ที่รับพนักงานคัดแยกหนังสือ ส่วนผู้ที่ต้องการทำธุรกิจส่วนตัวก็จะประสานให้ไปกู้เงินกองทุนคนพิการของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อเป็นทุนเปิดกิจการ
ตัวอย่างลูกศิษย์ของวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ที่วันนี้สามารถนำความรู้มาประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ในสังคม
         จักรพันธ์ จิระพงษ์ปรีดา หรือ ข้างฟ้าง วัย 29 ปี ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว จบหลักสูตรระยะสั้นแผนกเครื่องหนัง และ ปวส. สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ปัจจุบันยึดอาชีพทำกระเป๋าหนัง และขายลอตเตอรี่ หลังจากจบ ม.ต้น ที่ รร.ศรีสังวาลเชียงใหม่ ทางโรงเรียนได้ส่งข้าวฟ้างให้มาศึกษาต่อที่วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ และถือเป็นนักศึกษาพิการกลุ่มแรกที่ครูในวิทยาลัยได้เริ่มสอนหลักสูตรอาชีพสำหรับผู้พิการ
ข้างฟ้าง เล่าว่า กระเป๋าหนัง 1 ใบ จะใช้เวลาเย็บ 3-4 วัน ก่อนการตัดเย็บต้องเริ่มจากการออกแบบรูปทรงกระเป๋า ซึ่งจะใช้มือเย็บ 95 % ส่วนอีก 5 % ที่เหลือจะใช้เครื่องจักรเย็บในส่วนของผ้าซับในและซิปภายในกระเป๋า  ราคาต่อใบประมาณ 2,800 – 3,000 บาท โดยวางขายที่งานนิทรรศการของวิทยาลัยและฝากตามร้านค้า ทุกวันนี้จึงมีเงินเก็บและสามารถส่งเงินกลับไปให้พ่อทุกเดือน
พชร จ๊ะเงาะ หรือ น้องก๊อง ผู้พิการออทิสติก อายุ 21 ปี จบ ปวส.คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ผู้ดูแลศูนย์สนับสนุนและบริการช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาผู้พิการ ทำหน้าที่ดูแลนักศึกษาผู้พิการในวิทยาลัยซ่อมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการรับอาชีพเสริมลงโปรแรกมคอมพิวเตอร์อีกด้วย
         นอกจากวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่แล้ว ยังมีวิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง พระนครสี่พระยา ธนบุรี และสมุทรปราการ ที่เปิดสอนอาชีพหลักสูตรระยะสั้นแก่ผู้เรียนที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาทางการเรียนรู้และพฤติกรรม
        “ทุกของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษคือการหาที่เรียนให้กับลูกเมื่อจบแต่ละช่วงชั้นว่าจะไปศึกษาต่อที่ไหน เด็กเหล่านี้ส่วนมากจึงจบแค่ ม.3 แล้วไปต่อไม่ได้ ต้องหลุดออกไปจากระบบการศึกษา หากให้ลูกเรียนสายสามัญศักยภาพก็คงไม่ถึง” นางปิยนุช โชติกเสถียร หนึ่งในผู้ปกครองเด็กพิเศษที่เข้าศึกษาต่อหลักสูตรระยะสั้นวิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง ระบายถึงปัญหา ... แต่วันนี้ปัญหานี้ได้เบาลงพร้อมกับความหวังที่จะได้เห็นลูกที่บางคนมองว่าเป็นภาระแต่กำลังมีอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้
 
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมน์ หมายเหตุประชาชน วันอังคารที่ 26 เมษายน 2559
พรประไพ เสือเขียว 
 

ผลวิจัยชัดเด็กบกพร่องการเรียนรู้ เรียนสายอาชีพได้ .pdf

  View : 5.69K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 548
 เมื่อวาน 2,262
 สัปดาห์นี้ 5,857
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 25,773
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 907,451
  Your IP : 95.108.213.184