8 วิธี เลี้ยงลูกอย่างไร ให้ไกลอ้วน

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
        เด็กที่อ้วนมาก เสี่ยงสารพัดโรค ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจ มารู้จักวิธีเลี้ยงลูกให้ถูกวิธี มีสุขภาพดีกันเถอะ
ปู่ย่าตายายมักบอกว่า เด็กอ้วนไม่เป็นไร โตขึ้นตัวยืดเอง แต่ในความเป็นจริง เด็กอ้วนส่วนใหญ่จะยังคงอ้วนจนเป็นผู้ใหญ่ คนทั่วไปมองว่า เด็กอ้วนน่ารัก สุขภาพดี แต่ในความเป็นจริง เด็กที่อ้วนมากพุงย้อย เสี่ยงสารพัดโรค ทั้งกรนเสียงดัง เบาหวาน ความดันสูง ขาโก่ง ขากาง ไขมันสูง และยังเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ (Non-Communicable Disease) เรียกย่อว่า NCD ในวัยผู้ใหญ่
        รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ข้อมูลว่า ถ้าถามว่า แล้วจะ "เลี้ยงลูกอย่างไร ให้ไกลอ้วน" ก็พอจะสรุปเป็นแนวทางปฏิบัติได้ 8 ข้อ ดังนี้
1.เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นมแม่ป้องกันโรคอ้วนได้ เด็กที่กินนมแม่ เมื่อโตขึ้นเป็นโรคอ้วนต่ำกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ เพราะมีมวลไขมันสะสมในร่างกายน้อยกว่า และยังคุมการกินอาหารได้ดีกว่าในเด็กที่เลี้ยงด้วยนมขวด ควรให้เริ่มหย่าขวดนมที่อายุ 1 ขวบ และเลิกให้ได้หลังขวบครึ่ง เมื่อเด็กโตขึ้น ฝึกให้เด็กดื่มนมจืด ไม่ให้ติดนมหวานหรือนมเปรี้ยวที่มีเนื้อนมเพียงครึ่งเดียวแต่อุดมด้วยน้ำตาล
2.ปลูกฝังให้กินอาหารที่มีกากใยสูงและไขมันต่ำ พ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็กกินผักและผลไม้ให้เป็นนิสัยทุกวัน กินปลาและไข่เป็นหลัก เลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น หนังไก่ หนังหมู มันหมู อาหารทอดจนกรอบหรือไหม้เกรียม
3.ไม่ส่งเสริมการกินขนมซองและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้กระป๋อง ไม่ส่งเสริมการกินขนมจุบจิบซึ่งส่วนใหญ่เป็นขนมซองที่มีไขมันและน้ำตาลสูง อาหารว่างควรมีอาหารหลายหมู่ เลี่ยงอาหารว่างที่มีแต่แป้ง ไขมัน หรือน้ำตาล อ่านฉลากโภชนาการเพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือโซเดียม น้ำตาล และไขมันต่ำ ไม่ใช้อาหารเป็นสินบนหรือรางวัลสำหรับพฤติกรรมที่ต้องการ ไม่เก็บตุนขนมหรือเครื่องดื่มไว้ไนบ้าน
4.สร้างวินัยในการกิน ฝึกให้เด็กกินอาหารมื้อเช้าที่มีคุณค่าโภชนาการสูงทุกวันจนเป็นนิสัย ลดการกินอาหารนอกบ้าน และกินอาหารพร้อมหน้าทั้งพ่อ แม่และลูก โดยเฉพาะลูกวัยรุ่น ฝึกให้กินอาหารเป็นเวลา ตักอาหารให้พอดีกิน เคี้ยวอาหารให้ละเอียด และกินพอดีอิ่ม
5.จำกัดเงินค่าขนมรายวัน พ่อแม่ไม่ควรให้เงินค่าขนมแก่เด็กมากเกินไป โดยเฉพาะในเด็กอนุบาลที่ยังไม่สามารถตัดสินใจเลือกซื้อขนมที่มีคุณค่าโภชนาการได้ หรือเด็กที่โรงเรียนจัดอาหารกลางวันฟรี ก็ควรเอาเงินไปโรงเรียนน้อยลง ไม่ควรให้เด็กซื้อขนมเงินเชื่อ หรือหยิบมาก่อนแล้วผู้ใหญ่จ่ายให้ภายหลัง เป็นการเปิดโอกาสให้เลือกขนมโดยไม่มีผู้ใหญ่แนะนำและไม่ได้ฝึกวินัยการใช้เงิน
6.ส่งเสริมให้ออกกำลังกาย พ่อแม่ควรให้เด็กออกกำลังกายให้เป็นนิสัย และมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน การออกกำลังกายทำให้ความจำดี คิดคำนวณได้เก่งขึ้น นอกจากวิ่งเล่นกับพี่น้องและเพื่อนที่บ้าน การให้เด็กได้เล่นกีฬาตามความถนัด ยังทำให้เด็กได้เรียนรู้กฎ กติกา และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพิ่มโอกาสของกิจกรรมทางกาย เช่น เดินหรือขี่จักรยานแทนการนั่งรถไปโรงเรียนหรือสถานที่ใกล้ๆ ในละแวกบ้าน เดินขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟต์หรือบันไดเลื่อน ให้เด็กช่วยทำงานบ้านที่เหมาะสมกับอายุ เช่น ตากหรือพับเสื้อผ้า รดน้ำต้นไม้ เอาขยะไปทิ้ง เป็นต้น และยังเป็นการฝึกความรับผิดชอบ
7.กำหนดระยะเวลาของกิจกรรมหน้าจอ ไม่ปล่อยให้เด็กหมกมุ่นอยู่กับกิจกรรมแน่นิ่ง เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นอินเตอร์เน็ต ซึ่งเด็กมักกินขนมจุบจิบและน้ำอัดลมร่วมด้วย เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปควรใช้เวลาอยู่หน้าจอทุกชนิดไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง และควรวางโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ไว้บริเวณส่วนรวมของบ้านเพื่อให้อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่แนะนำให้ดู
8.ฝึกให้เข้านอนแต่หัวค่ำ เด็กควรได้นอนหลับคืนละ 8-10 ชั่วโมง นอกจากลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนแล้ว ยังทำให้สมองแจ่มใส ความจำดี พร้อมที่จะเรียนรู้ด้วย
           พฤติกรรมสุขภาพต่างๆ ที่ปลูกฝังในวัยเด็กจะเป็นนิสัยติดตัวต่อถึงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เป็นเกราะป้องกันปัญหาโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและโรคเรื้อรังไม่ติดต่ออื่นๆ ในอนาคต ซึ่งล้วนมีสาเหตุจากพฤติกรรมทำลายสุขภาพที่ก่อตัวมาตั้งแต่วัยเด็ก
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
 

8 วิธี เลี้ยงลูกอย่างไร ให้ไกลอ้วน.pdf

  View : 2.06K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 54.208.238.160