กรมสุขภาพจิต เผย เสริมความมั่นใจให้พยาบาล กว่า 500 ชีวิต
ดำเนินงานเชิงรุกดูแลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยทั่วประเทศ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 เวลา 14.00 น. น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดและมอบประกาศนียบัตรการอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น รุ่นที่ 15 โดยมีแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลกล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมวิชาการชิน โสภณพนิช อาคารผู้ป่วยนอก ชั้น 4 สถาบันราชานุกูล
ในโอกาสนี้อธิบดีกรมสุขภาพจิตได้ให้โอวาทแก่ผู้เข้ารับการอบรมในโอกาสที่สำเร็จการหลักสูตรดังกล่าว เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติการพยาบาลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาซับซ้อนอีกทั้งสามารถนำศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้องนำไปให้การพยาบาลแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริม บำบัด ฟื้นฟูสุขภาพจิตและจิตเวชแก่เด็ก วัยรุ่น ครอบครัว และชุมชนได้อย่างมีศักยภาพ
ทั้งนี้การอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่นมีระยะเวลาการอบรมตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 - 25 พฤศจิกายน 2559 โดยมีพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานเอกชนเข้าร่วมการอบรมในรุ่นนี้จำนวนทั้งสิ้น 53 คน
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต โดย สถาบันราชานุกูล สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น (PG) ขึ้น จำนวน 15 รุ่น โดยมีผู้ผ่านการอบรม ทั้งสิ้น 573 คน จาก 352 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต 20 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 15 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 198 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 57 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) 24 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 1 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 22 แห่ง โรงพยาบาลในเขต กทม. 7 แห่ง และ อื่นๆ ได้แก่ วิทยาลัยพยาบาล โรงพยาบาลเอกชน หน่วยงานเอกชน และศาลจังหวัด อีก 21 แห่ง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ในการดำเนินงานเชิงรุกดูแลสุขภาพจิตและจิตเวชให้กับเด็กและวัยรุ่นไทยทั่วประเทศ ทั้ง 13 เขตสุขภาพ ด้วยการเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานด้านการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาซับซ้อน และสามารถใช้ศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนใช้การพยาบาลแบบองค์รวม ในการส่งเสริม ป้องกัน บำบัด ฟื้นฟูสุขภาพจิตและจิตเวชให้กับเด็กและวัยรุ่น ครอบครัวและชุมชนได้ ที่สำคัญ เป็นการช่วยเสริมความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในการช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเด็กได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน เห็นได้ชัดเจนจากการที่หน่วยบริการสาธารณสุขมีการคัดกรองพัฒนาการ มีคลินิกกระตุ้นพัฒนาการ และคลินิกเกี่ยวกับจิตเวชเด็ก เป็นต้น
หลักสูตรการอบรม ประกอบด้วย ภาคทฤษฎี 4 รายวิชา ได้แก่ ระบบสุขภาพและการจัดการ การประเมินภาวะสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่นขั้นสูง การพยาบาลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น การพยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่น และภาคปฏิบัติ จำนวน 2 รายวิชา ได้แก่ ปฏิบัติการพยาบาลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น และปฏิบัติการพยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ระยะเวลาในการอบรม ประมาณ 4 เดือน โดยมีพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานเอกชนเข้าร่วมการอบรม ทั้งนี้ จากการประเมินความพึงพอใจผู้เข้ารับการอบรม พบว่า ทุกคนมีความพึงพอใจต่อหลักสูตร และ ร้อยละ 92 มีความมั่นใจต่อการนำความรู้ไประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว