วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2561 สถาบันราชานุกูลจัดกิจกรรมเนื่องในวันคนพิการแห่งชาติ ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เครือข่ายการ์ตูนไทยพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และจิตอาสางานศิลปกรรมบำบัด จัดกิจกรรม “แต้มสี เติมรัก ถักทอฝัน : ร่วมกันสร้างศิลปะบนกำแพงสถาบันราชานุกูล” รวมพลังนักวาดการ์ตูน นักเขียนหนังสือนิทาน จิตอาสาและผู้บกพร่องทางสติปัญญา เรียนรู้ร่วมกันโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง เปิดโอกาสให้ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาได้ถ่ายทอดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ แสดงศักยภาพด้านศิลปะ ช่วยส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข
กำหนดการ
08.00 – 08.30 น. ลงทะเบียนจิตอาสา ณ อาคารอำนวยการ
08.30 – 09.00 น. ปฐมนิเทศจิตอาสา ณ ห้องประชุมวิชาการ ชิน โสภณพนิช
09.00 – 09.30 น. พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวต้อนรับ
09.30 – 16.00 น. กิจกรรม “แต้มสี เติมรัก ถักทอฝัน : ระบายสีกำแพงสถาบันราชานุกูล”
---------------------------------------------------------
PRESS RELEASE
สถาบันราชานุกูลรวมพลังจิตอาสา นักวาดการ์ตูน และผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาสร้างงานศิลปะบนผืนกำแพงยาวกว่า 200 เมตร ในวันคนพิการไทย
วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2561 สถาบันราชานุกูลจัดกิจกรรม “แต้มสี เติมรัก ถักทอฝัน : ศิลปะบนกำแพงสถาบันราชานุกูล” ความยาวของกำแพง 225 เมตร เนื่องในวันคนพิการแห่งชาติ โดยร่วมกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) และจิตอาสาฯ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้บกพร่องทางสติปัญญาได้ทำงานร่วมกับนักวาดการ์ตูน นักเขียนหนังสือนิทาน และจิตอาสาโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางเพื่อสร้างกำลังใจแก่ผู้พิการทุกประเภท
แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อํานวยการสถาบันราชานุกูล เผยว่า การใช้ศิลปะบำบัด (Art Therapy) เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ผู้พิการทางสติปัญญาเป็นแพทย์ทางเลือกแขนงหนึ่งที่สถาบันราชานุกูลใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางพัฒนาและสติปัญญามากว่า 30 ปี ซึ่งได้มีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการมาอย่างต่อเนื่อง ในการค้นหาความผิดปกติบางอย่างของกระบวนการทางจิตใจ และใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพ เสริมสร้างทักษะการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาให้สามารถทำกิจกรรมที่ละเอียดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ช่วยให้มีการประสานกันของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว และช่วยควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดปัญหาทางอารมณ์ พฤติกรรม ผ่อนคลายความตึงเครียด และเสริมสร้างศักยภาพในด้านต่างๆ โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ หลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เป็นทางเลือกในการระบายความรู้สึกนึกคิด จนสามารถเข้าใจและสามารถสื่อสารกับผู้คนรอบข้างได้ ทั้งนี้ พบว่า ร้อยละ 89.90 ของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา มีทักษะดีขึ้น 1 ระดับ และร้อยละ 81.57 มีทักษะด้านการควบคุมตนเองและมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น ร้อยละ 96 มีสมาธิเพิ่มขึ้นหลังจากทำกิจกรรมทางศิลปะ
ด้านนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) กล่าวเสริมว่า ทางแผนงาน ฯ เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ได้ทำงานร่วมกันในการใช้พลังศิลปะและหนังสือภาพพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน และผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ รวมถึงการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ น่ามอง น่าอยู่ เพื่อชุมชนต่าง ๆ หากทุกครอบครัวและสังคมไทยได้มีความรู้ความเข้าใจในสื่อแขนงนี้ ย่อมจะช่วยให้เด็ก ๆ ของเราได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น งานในวันนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสติปัญญาหรือผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาได้แสดงออกในศักยภาพทางศิลปะได้อย่างสร้างสรรค์เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม และยังคุณค่าต่อผู้รับบริการ ผู้ป่วย ญาติ รวมถึงบุคลากรของสถาบัน ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปกรรมที่สร้างความสดใสให้กับเขตดินแดง และคาดหวังให้สังคมเกิดทัศนคติที่ดีต่อผู้พิการทางสติปัญญา และพร้อมที่เปิดโอกาสในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข
Link ข่าวสารจากสื่อมวลชน