อันตรายจากของเล่นชิ้นเล็กเมื่อเด็กนำเข้าปาก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์

    ในบรรดาเหล่าของเล่นที่ลูกน้อยมักจะชอบหยิบจับสัมผัสมาเคาะ มากัด มาจับเล่น มักจะเป็นของเล่นที่มีสีสัน และมีลูกเล่นที่น่าชวนให้ค้นหาในการเล่น แต่เชื่อหรือไม่ว่า ของเล่นที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือของเล่นที่มีสีสันเหล่านี้ มักจะแสดงอันตรายออกมาให้เห็นโดยที่เราเองก็อาจมองข้ามความสำคัญตรงนั้นไป

    คอลัมน์หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพฉบับนี้ ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับของเล่นทั่วไปที่ส่งผลอันตรายต่อการทำให้ขาดอากาศหายใจในลูกน้อย

    เริ่มต้นกันที่ของเล่นชิ้นเล็กซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี โดยที่เด็กอายุ 4 เดือนจะเริ่มเอามือทั้ง 2 ข้างมาจับกุมกันตรงกลางแล้วเอาเข้าปากดูดอม ต่อมาจะไขว่คว้าเอาของเข้าปากได้ เด็กทารกจะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมโดยการใช้ปากเป็นหลัก จึงไม่ควรให้เด็กเล็กเล่นของเล่นที่มีความกว้างน้อยกว่า 3.71 เซนติเมตร เพราะหากเด็กเอาเข้าปากแล้วสำลัก จะทำให้ติดคอจนเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้

    กุ๊งกิ๊ง นับว่าเป็นของเล่นเขย่าเสียงดัง ที่พ่อแม่ใช้เพื่อให้เด็กฝึกจ้อง มองตาม หันหาเสียง และฝึกไขว่คว้า โดยทั่วไปเด็กอายุได้ 4-6 เดือน จะเริ่มไขว่คว้า หัดกำ และเริ่มเขย่าได้เอง โดยทั่วไปกุ๊งกิ๊งมีหลายแบบทั้งแบบวงกลม วงแหวน มีด้ามถือ หรือเป็นเส้นสายยาวที่ใช้ผูกเปลนอนสำหรับเด็กเล็ก นอกจากคุณประโยชน์ที่ได้ในการฝึกพัฒนาการเด็กแล้ว ในการวิจัยพบว่ากุ๊งกิ๊งยังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หลายประการ เช่น

-
เกิดการอุดตันทางเดินหายใจ กุ๊งกิ๊งที่ถูกออกแบบมาไม่ถูกต้องมีชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กหรือถูกผลิตโดยที่มีความแข็งแกร่งไม่เพียงพอทำให้เกิดการแตกหักง่าย กลายเป็นวัสดุชิ้นเล็ก ๆ ได้ ซึ่งเมื่อเด็กนำเข้าปากจะเกิดการสำลักและอุดตันหลอดลมได้โดยง่าย หากเกิดการอุดตันทางเดินหายใจจะทำให้สมองขาดออกซิเจนอย่างกะทันหันซึ่งมีเวลาเพียง 4-5 นาทีเท่านั้นที่สมองจะคงทนอยู่ได้

-
เกิดการอาเจียนและสำลักอาหารที่กินเข้าไปออกมา และอาหารนั้นถูกสำลักเข้าหลอดลมอีกที ก่อให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ กุ๊งกิ๊งที่เป็นด้ามยาวเพื่อให้เด็กกำถือเขย่า ถ้าปลายด้ามมีขนาดเล็กในขนาดที่เด็กเอาเข้าปากได้ จะสามารถแทงรบกวนคอเด็ก โดยเฉพาะในท่านอนราบที่เอาด้ามกุ๊งกิ๊งเข้าปากจะทำให้อาเจียนจนสำรอกเอาอาหารที่กินเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหารออกมาและก่อให้เกิดการสำลักเข้าหลอดลมอุดตันทางเดินหายใจได้

-
อันตรายจากสีที่ใช้ในการผลิตกุ๊งกิ๊ง กุ๊งกิ๊งที่ผลิตจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับการควบคุมโดยมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการผลิตแบบท้องถิ่นและถูกวางขายตามตลาด อาจผลิตโดยวัสดุที่มีสารตะกั่ว สังเกตได้ง่ายว่ากุ๊งกิ๊งแบบนี้จะมีราคาค่อนข้างถูก สีสดใสมาก ลักษณะของสีหลุดลอกง่าย เอาเล็บขูดดูจะพบว่ามีสีติดเล็บออกมา หรือมีสีลอกเป็นแผ่น ๆ

ทั้งนี้ จากงานวิจัยนำไปสู่คำแนะนำสำหรับผู้ดูแลเด็กในการเลือกกุ๊งกิ๊งที่ปลอดภัย มีดังนี้

1)
เลือกกุ๊งกิ๊งที่ไม่มีชิ้นส่วนขนาดเล็กกว่า 3.17 เซนติเมตร และสั้นกว่า 5.71 เซนติเมตร ที่สามารถหลุดออกจากโครงสร้างหลักได้

2)
หากกุ๊งกิ๊งไม่มีชิ้นส่วนเล็ก ๆ ต้องดูด้วยว่ากุ๊งกิ๊งนั้นมีความแข็งแกร่งคงทน ไม่แตกง่าย เพราะหากแตกได้ง่ายก็จะกลายเป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่สามารถอุดตันทางเดินหายใจได้

3)
ไม่มีด้ามยาว หรือถ้ามีด้ามยาว ปลายด้ามต้องใหญ่พอที่เด็กจะไม่สามารถเอาเข้าปากได้

4)
ผลิตโดยมีการรับรองมาตรฐานการผลิต ไม่มีสีที่หลุดลอกง่ายจากรูป แสดงให้เห็นถึงการทดสอบขนาดด้ามของกุ๊งกิ๊ง ซึ่งถ้าลอดผ่านแผ่นทดสอบได้ หมายถึงเด็กสามารถนำเข้าปากผ่านลึกถึงผนังลำคอด้านหลังและเกิดการอุดตันทางเดินหายใจ หรือกระตุ้นให้เกิดการอาเจียนได้

ลูกโป่ง ลูกโป่งไม่ได้สร้างความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่ยังสร้างความเสี่ยงต่ออันตรายอีกด้วย ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รายงานการตายของเด็กจากลูกโป่งถึง 110 ราย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977-2001 ซึ่งสาเหตุการตายเกิดจากการอุดตันทางเดินหายใจโดยเศษลูกโป่งหรือลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าเข้าไปติดในคอ เด็กส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตมักอายุน้อยกว่า 6 ปี อย่างไรก็ตาม มีรายงานการอุดตันทางเดินหายใจจากลูกโป่งในเด็กที่อายุมากกว่า 6 ปี แต่ช่วยเหลือได้ทันอยู่เหมือนกัน

พฤติกรรมเสี่ยงจากลูกโป่งที่ก่อให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจนั้นมี 2 แบบ แบบที่หนึ่งคือเด็กเป่าลูกโป่งเอง ซึ่งในขณะที่เป่านั้น จังหวะที่เด็กต้องการหายใจเข้าเพื่อเติมลมในปอดนั้นจะต้องดูดอากาศเข้าอย่างแรงโดยมีลูกโป่งจ่ออยู่ที่ริมฝีปาก ทำให้เกิดโอกาสที่ลูกโป่งจะถูกดูดเข้าไปในปากและลงไปในหลอดลมเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ อีกพฤติกรรมหนึ่งคือการที่เด็กเอาลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าเข้าปากแล้วอมไว้หรือเคี้ยวเล่น การเผลอของเด็ก การวิ่ง ปีนป่ายหรือหัวเราะ อาจทำให้สำลักลูกโป่งที่อมไว้นั้นเข้าปอดเกิดการอุดตันทางเดิน
หายใจได้

นอกจากนี้ เศษลูกโป่งที่แตกแล้ว ก่อให้เกิดความเสี่ยงแบบเดียวกันได้ทั้งสองกรณี คือการเอาเศษลูกโป่งมายืดออกไว้ที่ริมฝีปากและเป่า ในจังหวะหายใจเข้า เศษลูกโป่งอาจจะถูกดูดเข้าไปในปากและสำลักลงหลอดลม หรือการเอาเศษลูกโป่งอมเคี้ยวในปาก ก็จะทำให้เกิดอันตรายได้เช่นเดียวกัน

    การป้องกันอันตรายจากลูกโป่ง แนะนำว่าไม่อนุญาตให้เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี เล่นลูกโป่งที่ยังไม่เป่า ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนเป่าลูกโป่งให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 8 ปีเท่านั้น ห้ามเด็กอมลูกโป่งเข้าปาก สำหรับลูกโป่งที่แตกแล้วต้องเก็บเศษลูกโป่งให้หมดทันที อย่าให้เด็กเล่นโดยเด็ดขาด ส่วนเด็กที่เล่นลูกโป่งที่เป่าลมแล้วต้องมีผู้ใหญ่เฝ้าดูอยู่ใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เล่นตามลำพัง สุดท้ายต้องสอนเด็กอย่าให้เล่นลูกโป่งใกล้หน้าใกล้ตา เพราะหากเกิดการแตก แรงระเบิดจะเป็นอันตรายต่อใบหน้าและตาได้.

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


  View : 6.19K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 861
 เมื่อวาน 737
 สัปดาห์นี้ 5,521
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 22,162
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 871,330
  Your IP : 54.85.7.119