รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
องค์การอนามัยโลกได้ให้คำจัดความของคำว่า “ทักษะชีวิต” ไว้ว่า หมายถึงความสามารถในการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต ซึ่งในยุคที่เต็มไปด้วยปัญหาสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนนั้น การสร้างทักษะชีวิต ถือว่ามีความจำเป็นตั้งแต่วัยอนุบาล
พญ.ปราณี เมืองน้อย กุมารแพทย์/จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลเด็ก กล่าวว่า ทักษะชีวิตนั้นหมายถึงความชำนาญหรือเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งซึ่งไม่ใช่ในทางวิชาการ และส่วนมากได้มาจากการสั่งสมในประสบการณ์ชีวิต หรือสอนกันมา เลียนแบบกันมา ประโยชน์ของทักษะชีวิตก็คือ จะทำให้บุคคลคนหนึ่งสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข มีทักษะในการแก้ปัญหา ทักษะในการปรับตัว และดำเนินชีวิตได้
“อย่างเด็กเล็ก เราจะพบว่าพวกเขาอยู่ในวัยที่มีจินตนาการสูง ซนๆ เหมือนสมาธิสั้น เพราะความสนใจเขาสั้น แต่เขาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ วัยอนุบาลจะใช้จินตนาการเยอะ และฝึกพูดเป็นประโยคได้ยาวขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเรื่องกล้ามเนื้อ ก็จะมีพัฒนาการทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็ก เด็กวัยนี้จะชอบปีนป่ายและขี้สงสัยด้วย”
วัยอนุบาล ทักษะชีวิตยังไม่เยอะมาก แต่จะเน้นไปที่เรื่องของการฝึกอีคิว เพราะทักษะชีวิตจริงๆ จะเน้นองค์ประกอบหลายด้าน เช่น องค์ประกอบด้านความคิด คิดสร้างสรรค์ หรือคิดวิเคราะห์ ด้านเจตคติก็คล้ายเรื่องการฝึกอีคิว จะมีเรื่องของการพัฒนาจิตใจที่เข้าอกเข้าใจคนอื่นหรือว่ารู้จักตัวเองว่าชอบอะไร มีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร
“อีกหนึ่งองค์ประกอบของทักษะชีวิตคือเรื่องสังคมหรือพฤติกรรมต่างๆ เช่น การควบคุมอารมณ์ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการเข้าสังคม การสร้างสัมพันธภาพ สำหรับเด็กวัยอนุบาล ทักษะในส่วนของการคิดวิเคราะห์จะยังไม่เยอะ ดังนั้น ส่วนที่เราจะฝึกเขาได้ก็คือในส่วนของความคิด เจตคติ และเรื่องจิตใจ หรือการฝึกอีคิว เช่น การฝึกให้เขารู้จักเข้าอกเข้าใจคนอื่น เห็นอกเห็นใจคนอื่น”
แน่นอนว่า ในกระบวนการขั้นตอนของการฝึกทักษะชีวิตนี้ บุคคลที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการจะสร้างทักษะชีวิตให้กับลูก เพื่อเป็นพื้นฐาน ก็คือ คุณพ่อคุณแม่
“พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบ อย่างถ้าเราจะสอนให้เขารู้จักเรื่องการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ระหว่างที่ปฏิบัติสิ่งต่างๆ พ่อแม่ก็ต้องแสดงให้ลูกเห็น อาจจะเป็นการพูดหรือสีหน้าท่าทางก็ได้”
ส่วนเรื่องกล้ามเนื้อ พ่อแม่ก็อาจให้ลูกช่วยทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น ช่วยกวาดบ้าน ทำความสะอาดล้างถ้วยล้างจาน ซึ่งเราจะพบว่าเวลาที่เด็กได้ทำอะไรแบบนี้ เขาจะได้ใช้ความคิดไปด้วย และจะเกิดการสื่อสาร เช่น ทำอะไรไม่ได้ก็จะถามคุณพ่อคุณแม่ รวมไปจนถึงการพยายามหาทางแก้ปัญหา เช่น จะตากผ้า แต่ราวผ้าอยู่สูง เขาจะแก้ปัญหายังไง สิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยในการเพิ่มทักษะชีวิตได้เช่นกัน
“ประโยชน์ของการฝึกทักษะชีวิตที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือ มันจะทำให้คนรู้สึกมั่นใจในตัวเอง รู้สึกดีๆ เกี่ยวกับตนเอง เพราะฉะนั้น อะไรก็ตาม ที่จะนำเด็กไปสู่การมองตัวเองในแง่ลบ อันนี้ต้องหลีกเลี่ยง สิ่งที่เราต้องทำก็คือการให้กำลังใจเวลาที่ฝึกทักษะแต่ละอย่าง” พญ.ปราณี กล่าว
ผู้จัดการออนไลน์