กรมสุขภาพจิตแนะ 3 ประสาน รพ. ครอบครัว ชุมชนช่วยรักษาผู้ป่วยจิตเวชได้

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

          กรมสุขภาพจิตย้ำจิตเภทรักษาได้ เน้นการอยู่ร่วมกับโรคจิตเภท พบผู้ป่วยจิตเภท 3 แสนคนในไทยจากผู้ป่วยจิตเวชกว่า 1.1 ล้านคน แนะ 3 ประสานโรงพยาบาล ครอบครัวและชุมชนช่วยได้...
          เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สหพันธ์สุขภาพจิตโลกได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) เพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต และปัญหาการเจ็บป่วยทางจิต ช่วยกันป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุกลาม สำหรับปีนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับโรคจิตเภท "Living with schizophrenia" เนื่องจากทั่วโลกมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ถึง 26 ล้านคน มีเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจิตเภท ที่เข้าถึงบริการบำบัดรักษาได้ ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ไม่สามารถเข้าถึงการบำบัดรักษา ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมองและการหายขาดของโรค ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเริ่มเป็นช่วงปลายวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 15-35 ปี คิดเป็นอัตรา 7 ต่อ 1,000 คนในประชากรวัยผู้ใหญ่
         ขณะที่ประเทศไทยจากรายงานจำนวนผู้ป่วยนอกจิตเวช ของกรมสุขภาพจิต พบโรคจิตเภทเป็นโรคทางจิตเวชที่พบมากที่สุด เป็นอันดับ 1 ล่าสุด มีจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยนอกจิตเวชทั้งหมด พบ 388,369 ราย จาก 1,109,183 ราย และพบในผู้ป่วยในจิตเวช 20,634 ราย จาก 42,861 ราย
        อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเน้นย้ำว่า โรคทางจิตเวชทุกโรครักษาได้ เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ยิ่งเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ยิ่งดี เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยต้องกินยา หรือฉีดยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ตามปกติ แต่เรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ปัญหาการขาดยา หรือการลดยา รวมถึงการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางจิตขั้นรุนแรง ญาติจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบว่าผู้ป่วยนอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ ก้าวร้าว วิตกกังวล หวาดกลัว ฉุนเฉียวง่าย ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือโทรปรึกษา สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
         สำหรับการดูแลรักษาคนไข้ทางจิตที่ดี คือ ต้อง 3 ประสาน ได้แก่ โรงพยาบาล ครอบครัวและชุมชน โดยครอบครัวและชุมชนต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย ให้การยอมรับ และให้โอกาสกับพวกเขา ทั้งนี้ อาจมองว่า ในช่วงที่ผ่านมามักเห็นภาพการก่อคดีของผู้ป่วยจิตเวชอยู่บ่อยครั้ง ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลง รู้สึกหวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งต้องบอกว่า ปัญหาการกระทำผิดรุนแรงที่เกิดจากการเจ็บป่วยทางจิตหรือผู้ป่วยนิติจิตเวชนั้น เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการกระทำความผิดจากบุคคลที่สภาพจิตปกติ
         อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป หรือผู้ป่วยนิติจิตเวช โรคจิตเภท ยังคงเป็นโรคทางจิตที่พบมากที่สุด ดังนั้น การมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านการรักษาอย่างต่อเนี่อง ตลอดจน การดูแลเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัว ย่อมส่งผลให้อาการป่วยทางจิตดีขึ้น การเปิดบ้านหลังคาแดงและพิพิธภัณฑ์จิตเวชแห่งแรกของประเทศไทยครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการให้สังคมภายนอกได้เห็นถึงศักยภาพของผู้ป่วย ที่พร้อมกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมเหมือนกับบุคคลทั่วไป สามารถอยู่ในชุมชนและสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี พึ่งพาตนเองได้ และเป็นภาระต่อผู้อื่นน้อยที่สุด ตลอดจนมุ่งหวังใช้เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในด้าน จิตเวชศาสตร์มากขึ้น เพื่อช่วยเปิดมุมมองเกี่ยวกับผู้ป่วยและเห็นถึงความสามารถและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้
         ด้าน นพ.สินเงิน สุขสมปอง ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยามีผู้ป่วยนอกจิตเวชเข้ารับบริการรักษา มากกว่า 1 แสนรายต่อปี ล่าสุด มีจำนวน 111,761 ราย มีผู้ป่วยในจิตเวช จำนวน 4,182 ราย ป่วยเป็นโรคจิตเภทมากที่สุด ซึ่งมีมากกว่า ร้อยละ 50 ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน พบในผู้ป่วยนอก จำนวน 58,422 ราย (ร้อยละ 52.27) และพบในผู้ป่วยใน จำนวน 2,247 ราย (ร้อยละ 53.73)
         การรักษาผู้ป่วยมี 3 วิธีหลัก ได้แก่ 1.การใช้ยา 2.การรักษาโดยใช้จิตบำบัด ซึ่งเป็นการพูดคุยให้กลุ่มผู้ป่วยได้วิเคราะห์กลับมาดูตัวเขาเอง และ 3.การบำบัดทางสังคมสิ่งแวดล้อม โดยจัดกิจกรรมกลุ่มให้ผู้ป่วยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน นำไปสู่การมีพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งฝึกทักษะทางสังคม เช่น รู้จักการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น รู้วิธีการสื่อสารที่ดีเพื่อไม่ให้มีการขัดแย้งเกิดขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยทางจิตจะได้รับการรักษาทั้ง 3 วิธี ควบคู่กันไป และเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยจะต้องกินยา หรือฉีดยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งยาจะช่วยควบคุมอาการและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลับเข้าสู่สังคมได้ ดูแลตนเองและทำงานได้
         หากมีผู้ป่วยจิตเภทอยู่ในบ้าน ต้องพยายามทำความเข้าใจ อดทน ไม่รังเกียจ ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธผู้ป่วย ไม่ควรขัดแย้งหรือโต้เถียงกับผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต แต่ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิตเหล่านั้น รวมทั้งให้การดูแลเรื่องการกินยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรเพิ่ม หยุด หรือลดยาเอง ดูแลสุขภาพอนามัย ไปพบแพทย์ตามนัด หากพบผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ดูสับสน วุ่นวาย ดื้อ ไม่ยอมกินยา ไม่ยอมมาพบแพทย์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ ตลอดจน หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วย เช่น พูดพร่ำ พูดเพ้อเจ้อ พูดคนเดียว เอะอะ อาละวาด หงุดหงิด ฉุนเฉียว หัวเราะ หรือยิ้มคนเดียว เหม่อลอย หลงผิด ประสาทหลอน หวาดกลัว ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

ไทยรัฐ


  View : 3.68K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,207
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 7,230
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,871
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 873,039
  Your IP : 51.222.253.17