พิธีเปิดคลินิกวอยตา (Vojta Therapy)
วันนี้ (22 ส.ค. 59) เวลา 13.30 น. นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานในพิธีเปิด “คลินิกวอยตา (Vojta Therapy) พร้อมด้วย แพทย์หญิงพรรณ พิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แพทย์หญิงรัชนี ฉลองเกื้อกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสารทไวทโยปถัมภ์ และ แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ร่วมเป็นเกียรติในงานดังกล่าว โดยมีแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลกล่าวรายงาน หลังจากนั้น Mrs. Fionn Bayley จาก สมาคม Inter national Vojta Society ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการบำบัดด้วยเทคนิควอยตา ได้มาถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการบำบัดฟื้นฟูด้านกายภาพด้วยเทคนิควอยตาให้แก่บุคลากรของสถาบันราชานุกูล พร้อมชมวิดีทัศน์และเยี่ยมชมนิทรรศการการให้บริการเกี่ยวกับคลินิกวอยตาของสถาบันราชานุกูล
เทคนิควอยตา (Vojta Therapy) เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ตรวจประเมินและรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหวและการทำงานประสานสัมพันธ์กันของระบบประสาทส่วนกลาง นิยมใช้อย่างแพร่หลายในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
งานกายภาพบำบัด สถาบันราชานุกูล ให้บริการทางกายภาพบำบัดแก่เด็กที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหวเฉลี่ยประมาณ 25 - 30 รายต่อวัน โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มโรคหลักที่มารับบริการที่สถาบัน ได้แก่ กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม กลุ่มเด็กซีรีบราลพัลซี่ กลุ่มพัฒนาการล่าช้าไม่สมวัย เป็นต้น มีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตและเปิดโอกาสให้เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ได้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งนี้ คลินิกวอยตาจะเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ ถึง พฤหัสบดี เวลา 8:30 ถึง 15:00 น. และ วันศุกร์ เวลา 08:30 ถึง12:00 น.
(เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดต่อเนื่อง)
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 02-248-8900 ต่อ งานกายภาพบำบัด 70387-70388
www.rajanukul.go.th
การรักษาด้วยเทคนิควอยตา (Vojta Therapy)
เทคนิควอยตา (Vojta Therapy) เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ตรวจประเมินและรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหวและการทำงานประสานสัมพันธ์กันของระบบประสาทส่วนกลาง นิยมใช้อย่างแพร่หลายในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและประเทศในแถบยุโรป และเริ่มเข้ามามีบทบาทในการรักษาเด็กกลุ่มที่มีความบกพร่องของพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2554 โดยมีหลักในการรักษาคือ กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้การเคลื่อนไหวของร่างกายแบบอัตโนมัติโดยใช้กลไกลที่เรียกว่า “การเคลื่อนไหวแบบรีเฟล็กซ์ (Reflex Locomotion)” เพื่อนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวพื้นฐานของมนุษย์ เช่น การกำมือ การเอื้อม การพลิกตัว การคืบ การคลาน การยืน และการเดิน เป็นต้น โดยไม่ต้องฝึกฝน สามารถกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยความตั้งใจของผู้ถูกกระตุ้น แต่ต้องอาศัยสิ่งเร้าที่ถูกต้องตรงตามเทคนิคการกระตุ้น ประกอบไปด้วยชุดการเคลื่อนไหวอยู่ 2 ชุด เรียกว่า
“การคืบแบบรีเฟล็กซ์ (Reflex Creeping)” และ “การพลิกตัวแบบรีเฟล็กซ์ (Reflex Rolling)”
การรักษาด้วยเทคนิควอยตา สามารถทำได้ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ แต่ด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ในทารกแรกเกิด เด็กเล็ก เด็กนักเรียน และวัยรุ่น การรักษามีผลดีต่อกระบวนการเจริญเติบโตโดยสมบูรณ์ของระบบประสาท ในผู้ใหญ่ การรักษาจะชักนำให้ร่างกายดึงท่าทางการเคลื่อนไหวของเดิมที่ปกติมาใช้ โดยมีจุดประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงผลอื่นที่ตามมา เช่น ความปวด ข้อติด หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง การรักษาผู้ป่วยต้องรักษาให้เหมาะสมกับพื้นฐานโรค ศักยภาพ รวมทั้งข้อจำกัดของแต่ละคนด้วย
การร้องไห้ของทารกและเด็กเล็กขณะทำการรักษาด้วยเทคนิควอยตา (Vojta Therapy) เป็นเครื่องมือ ของการแสดงออกของเด็กเพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นที่ไม่คุ้นเคยและก่อให้เกิดความเครียด ซึ่งเป็นการแสดงออกที่สำคัญและเหมาะสมของเด็กในช่วงอายุนี้ การกระตุ้นถึงระดับที่ได้ผลดีมักจะทำให้เด็กร้องไห้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเด็กได้รับการกระตุ้นอย่างสมำ่เสมอและต่อเนื่องการร้องไห้จะลดลงและจะหยุดร้องในช่่วงสั้นๆ ก่อนจะจบการรักษา ในเด็กโตที่สามารถพูดแสดงความรู้สึกได้มักพบว่าเด็กไม่ร้องไห้
การรักษาด้วยเทคนิควอยตาเหมาะสำหรับ
- ในทารกที่มีปัญหาการประสานสัมพันธ์ของระบบประสาทส่วนกลาง (Central Coordination disturbance)
- ในผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวจากความบกพร่องที่สมอง เช่น ภาวะสมองพิการ (Cerebral Palsy)
- ในผู้ที่แขนขาอ่อนแรงเหตุจากประสาทส่วนปลายผิดปกติ (เช่น Spina bifida, Plexus injury)
- ในผู้ที่มีโรคจากความบกพร่องของกล้ามเนื้อ
- ในผู้ที่มีโรคของกระดูกสันหลัง หรือการเคลื่อนไหวภายในโพรงไขสันหลังถูกจำกัด เช่น สันหลังคด
- ในโรคทางกระดูกที่มีความบกพร่องที่หัวไหล่ แขน ข้อสะโพก และขา โดยเฉพาะในผู้ที่กำลังเจริญเติบโต เช่น โรคเท้าปุก
- ในผู้ที่มีปัญหาความผิดรูปของข้อสะโพก (ใช้รักษาร่วมกับวิธีอื่น)
- ในผู้ที่มีปัญหาของการหายใจ การเคี้ยว และการกลืน
- ในกลุ่ม Congenital malformation เช่น Osseous scolilsis, Muscle aplasia, Arthogryposis
- โรคคอเอียงในเด็ก (Muscular และ Neurogenic Torticollis)
- ในกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมและความผิดปกติทางโครโมโซมอื่นๆ ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและการทรงท่า
กรณีห้ามทำการรักษาด้วยเทคนิควอยตา
- ช่วงที่มีไข้เฉียบพลัน หรือมีอาการอักเสบ
- โรคเฉพาะ เช่น กระดูกเปราะ (Osteogenesis Imperfect)
- โรคมะเร็ง
- หญิงตั้งครรภ์
- หลังจากได้รับวัคซีน ควรหยุด 3-10 วันหรือพักจนกระทั่งอาการที่เกิดขึ้นภายหลังการรับวัคซีนหายไป
- โรคหัวใจ
- ช่วงการให้ยากลุ่มสเตอร์รอยและช่วงปรับยาควบคุมอาการชักในเด็กลมชัก (Epilepsy) เช่น ในกลุ่ม West syndrome
ทำการรักษาด้วยเทคนิควอยตาได้แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง
- เด็กที่มีปัญหาโรคหัวใจ ควรได้รับการเห็นชอบจากแพทย์ผู้ทำการรักษา/แพทย์เจ้าของไข้ก่อนทำการรักษา
- กลุ่มที่ได้รับยา warfarin พบว่ามีเลือดออกง่ายขณะทำการรักษา
- โรคกระดูกบาง (Osteopenia) เช่นผู้ที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวนานๆ พบว่ามีกระดูกเปราะแตกหักง่ายขณะทำการรักษา
- โรคลมชัก (Epilepsy) เมื่อเด็กชักระหว่างทำต้องหยุดทันที ในโรคลมชักที่ถูกการกระตุ้นด้วยการสัมผัสแล้วมีอาการชักห้ามทำการรักษาด้วยเทคนิควอยตา
- เด็กหลับ จะไม่ปลุกขึ้นมารักษา โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคลมชัก