รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงอาการแสดงพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กเช่นในละครเรื่อง "วัยแสบสาแหรกขาด" ว่า อย่างที่เห็นในละครนั้นอาจจะยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นอาการทางจิตของเด็ก แต่เรียกว่าเป็นอาการตอบสนองทางการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ครอบ ครัวมากกว่า เช่นว่าพ่อแม่ใช้อารมณ์ในการเลี้ยงดูลูกมากเกินไป ดุด่าว่ากล่าว หรือพ่อแม่ทะเลาะกัน แสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อกัน จนทำให้เมื่อลูกพบเห็นบ่อยๆ เข้าจึงกลายเป็นอารมณ์เก็บกด ทำร้ายร่างกายตนเอง พฤติกรรมต่างๆ เด็กแสดงออกได้หลายอย่าง
ที่ต้องทำก็คือพ่อแม่ควรรู้ทันในอารมณ์ของตัวเองว่ามีอารมณ์อย่างไร กำลังโกรธอยู่หรือไม่ขณะที่กำลังดูแลลูก เพราะเมื่อพ่อแม่ต่อว่าดุด่าลูก เมื่อทำอะไรผิด ลูกจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดี อารมณ์น้อยใจเหมือนโกรธ งอน ทำให้แสดงพฤติกรรมออกมา ควรฝึกวินัยในบ้านว่าสิ่งไหนควรทำไม่ควรทำ พูดบอกที่ไม่ใช้อารมณ์ บางคนอยู่ที่บ้านไม่เคยโดนขัดใจ อยากได้อะไรก็ได้ ออกมานอกบ้านแล้วพบว่ามีบางอย่างที่ไม่ได้ดั่งใจ เจอเรื่องที่ไม่เป็นตามที่ตัวเองต้องการก็จะทำใจไม่ได้และแสดงพฤติกรรมต่างๆ ควรฝึกระเบียบวินัย ทำถูกต้อง ทำสิ่งที่ดี ก็ต้องชมลูก ต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่าแสดงพฤติกรรมอย่างไรกับลูก ถ้าเด็กไม่ทำการบ้านต้อง บอกเหตุผล ไม่ดุด่าหรือใช้อารมณ์ บางคนอาจจะบ่นลูก จนทำให้เด็กเครียดเก็บกด
"หากบางครอบครัวพบว่าลูกเริ่มที่จะมีพฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ ที่ไม่ดี แต่ยังไม่เป็นอันตราย ค่อยๆ ปรับตัวใหม่ สังเกตตัวเองว่าทำพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อลูก แสดงอาการที่ไม่ดีให้เห็นหรือไม่ ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นใหม่ หากลูกเริ่มมีพฤติกรรมรุนแรง เช่นการทำร้ายตัวเอง ให้รีบพาไปพบแพทย์"