ภูมิคุ้มกันโรคกับออทิสติก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

          เมื่อกล่าวถึงออทิสติกหรือออทิสซึมแล้ว ไม่เฉพาะกุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็กเท่านั้นที่สนใจ แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็สนใจถึงสาเหตุของการเกิดและการระบาดของออทิสติกที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นค่ะ ซึ่งผู้อ่านอาจเคยได้ยินว่า จนถึงในปัจจุบันนี้ ในเด็ก 88 คน เราจะพบเด็กที่เป็นออทิสติก 1 คน แน่นอนว่าตัวเลขมีแต่จะค่อย ๆ สูงขึ้น คำถามที่เกิดขึ้นในใจผู้เชี่ยวชาญก็คือ อะไรที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดภาวะออทิสติกได้กันแน่
          คอลัมน์หมอรามาฯ ไขปัญหาสุขภาพ ได้เคยเกริ่นเรื่องสาเหตุไปบ้างแล้ว ทั้งยีน ทั้งสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องไกลตัวพอสมควร บางท่านถึงกับมาถามว่า ยีนตัวใดกันแน่ที่ทำให้เกิดภาวะออทิสติก เพราะถ้ารู้ก็คงสามารถป้องกันได้ หรือจะให้ดีกว่านั้นก็คือเมื่อรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยง การไม่มีลูกเสียเลยน่าจะเป็นทางออกที่ดี ถึงแม้จะไม่ได้ดีที่สุดก็ตาม
          นักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันพยายามใช้เครื่องมือราคาแพงเพื่อแสวงหาคำตอบ และเจาะจงชนิดของยีน แต่จะว่าไปก็เหมือนการไปตกปลาในมหาสมุทร แล้วบอกว่าปลาตัวไหนกันแน่ที่รับประทานเข้าไปแล้วท้องจะเสีย ซึ่งมันคงไม่ใช่เรื่องง่ายค่ะ จากวารสารที่ตีพิมพ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ สามารถบอกได้คร่าว ๆ แล้วว่ามียีนกลุ่มใดบ้าง แต่นั่นก็คงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะงานหนักต่อจากนี้ก็คือ หาให้ได้ว่ายีนในกลุ่มนั้นตัวไหนกันที่น่าจะเป็นสาเหตุนั่นเอง
          ส่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร เพราะการจะให้หลีกเลี่ยงสารเคมีไปเสียทุกอย่างในช่วง 3 ปีแรก ใช่ว่าจะทำไม่ได้ แต่ทำได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงสังคมในยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีการใส่สารเคมีแทบทั้งสิ้น ในอีกส่วนที่เป็นเรื่องที่เป็นประเด็นเมื่อไม่นานมานี้ คือเรื่องของระบบภูมิคุ้มกันโรคกับออทิสติก จากงานวิจัยโดยทีมจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เดวิส ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารระบาดวิทยาของสหรัฐกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า 1 ใน 3 ของเด็กออทิสติกจะมีอาการอักเสบภายในร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
          ต้องเกริ่นก่อนว่า หน้าที่ของภูมิคุ้มกันโรคก็ตามชื่อเลยค่ะ คือทำหน้าที่ 2 อย่างสำคัญ เสมือนทหารที่อยู่ที่แท่นปราการรอรับการโจมตีจากข้าศึก ซึ่งก็คือเชื้อโรค พยายามต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้ามาในร่างกาย หน้าที่นอกจากต่อสู้แล้ว เมื่อฝ่ายตรงข้ามถอยร่นไป ก็ยังจะคอยปลอบประโลมคนที่อยู่ภายในแท่นปราการด้วย ซึ่งการทำหน้าที่ 2 อย่างนี้ต้องทำอย่างสมดุล คือจะสู้อย่างเดียว ไม่ปลอบก็ไม่ได้ หรือจะปลอบอย่างเดียวไม่สู้ก็ไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน
ในเด็กออทิสติกนั้น ได้รับการวิจัยมาบ้างว่า ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถทำหน้าที่ทั้ง 2 อย่างได้ดี เช่น เมื่อระบบภูมิคุ้มกันบอกว่ามีเชื้อโรคเข้ามา หน่วยต่อสู้มีจำนวนไม่เพียงพอ โอกาสที่ร่างกายจะพ่ายแพ้ต่อเชื้อโรคก็มีมากขึ้น และยิ่งหน่วยต่อสู้จากระบบภูมิคุ้มกันมีน้อยลงเท่าไหร่ อาการออทิสติกก็จะยิ่งถูกแสดงออกมากยิ่งขึ้น
         คำถามคือ เราทราบได้อย่างไร คำตอบที่ดีที่สุดคือ จากการสแกนสมองของเด็กออทิสติกแล้วพบว่า เซลล์สมองที่ช่วยควบคุมการทำงานของเซลล์ประสาทของสมองมีขนาดใหญ่มากขึ้น อันเนื่องมาจากการอักเสบซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของเซลล์ประสาท นั้น ๆ นั่นเอง งานวิจัยต่อเนื่องที่ประเทศเดนมาร์ก ได้เปิดคำถามเพื่อไปยังคำตอบที่ว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร นักวิจัยใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษ ในการศึกษาแล้วพบว่า การที่ระบบภูมิคุ้มกันโรคบกพร่องแล้วส่งผลต่อการเกิดภาวะออทิสติกนั้น เกิดขึ้นได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น การที่คุณแม่เป็นหวัดในไตรมาสแรกจะเร่งให้เกิดความบกพร่องถึง 3 เท่า และรวมไปถึงการที่คุณแม่ติดเชื้อแบคทีเรีย ที่เกิดได้ตอนที่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 ก็เพิ่มอัตราเสี่ยงถึง 40% เช่นเดียวกัน
          ในขณะเดียวกันก็สามารถพบได้ว่า คุณแม่ที่เป็นหวัดในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีลูกเป็นออทิสติก แล้วปัญหาจริง ๆ คืออะไรกันแน่ คำตอบก็คือ ร่างกายของคุณแม่มีการตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือการอักเสบได้ดีไม่เท่ากันคือตัวแปรสำคัญในการที่เด็กจะเกิดมาพร้อมภาวะออทิสติกหรือไม่ งานวิจัยที่ทำโดยศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันทางประสาทวิทยา จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียได้ทำการวิจัยกับหนูแล้วพบว่า แม่หนูที่กำลังตั้งครรภ์แล้วได้รับเชื้อโรค เช่น ไวรัสในการทดลอง จะคลอดลูกหนูที่แสดงพฤติกรรมแปลก ๆ ต่างจากแม่หนูที่ไม่ได้รับเชื้อ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วพบด้วยว่า การเกิดพฤติกรรมแปลก ๆ เหล่านั้น เป็นเพราะแม่หนูพยายามจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาป้องกันเชื้อโรคนั้นนั่นเอง
          เราคงไม่สามารถกล่าวโทษแต่ระบบภูมิคุ้มกันโรคที่จะเป็นสาเหตุของออทิสติกได้แต่เพียงอย่างเดียว จากงานวิจัยของประเทศเดนมาร์ก ซึ่งรวบรวมประชากรที่เกิดประมาณ 700,000 คน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบอีกว่า แม่ที่เป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น ไขข้ออักเสบ เพิ่มโอกาสที่ลูกจะเป็นออทิสติกถึง 80% ในขณะที่แม่ที่เป็นโรคเกี่ยวกับช่องท้อง เช่น แพ้อาหารจำพวกโปรตีนในแป้งหรือในนม เพิ่มโอกาสที่ลูกจะเป็นออทิสติกถึง 350% เรื่อง คล้าย ๆ กันนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เดวิส ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับออทิสติกโดยเฉพาะพบว่า จากการทดสอบแม่ของเด็ก ออทิสติกจะมีแอนติบอดี้ชนิดพิเศษที่จะไปปิดการทำงานของโปรตีนในสมองลูกหรือทำให้เซลล์สมองทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเริ่มต้นจากเมื่อ 10 กว่าปีก่อน นักวิจัยได้ฉีดแอนติบอดี้ชนิดพิเศษนี้ที่แม่หนูแล้วพบว่า ลูกหนูจะแสดงพฤติกรรมแปลกประหลาด โดยลูกหนูเหล่านี้จะเดินวนเป็นวงกลมและไม่สุงสิงกับใคร ดังนั้นตามทฤษฎีนี้ แล้วออทิสติกเกิดจากการที่ตัวอ่อนได้รับสารบางอย่างนั่นเอง และนี่คงไม่ใช่ทฤษฎีเดียวที่ตอบคำถามถึงสาเหตุได้ คำถามยังคงเกิดกับนักวิจัยท่านอื่น ๆ เราจึงได้ยินผลการวิจัยระยะหลังที่กล่าวว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 ที่เป็นโรคหืด โรคหอบ ก็เพิ่มอัตราเสี่ยงที่ลูกน้อยเป็น ออทิสติกได้เท่า ๆ กับการที่คุณแม่เป็นโรคอ้วนและอื่น ๆ
          นักวิจัยยังคงตั้งหน้าตั้งตาหาสาเหตุของปรากฏการณ์ระบาด ของออทิสติกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่กว่าเราจะรู้คำตอบนั้น คุณแม่คงต้องดูแลตัวเองให้ดีมากขึ้นและลดอัตราการเสี่ยงให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ค่ะ


อาจารย์ ดร.ปรียาสิริ วิฑูรชาติ
ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


  View : 3.25K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 510
 เมื่อวาน 1,702
 สัปดาห์นี้ 3,570
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 23,486
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 905,164
  Your IP : 66.249.69.99