4 โรค กระทบการเรียนเด็กไทย

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

           ปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช อาจส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้ไอคิวไม่ถูกพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ โดย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า ที่ผ่านมาเวลาวัดไอคิวเด็กไทยจะเห็นว่าไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเด็กมีปัญหาสุขภาพจิต และโรคทางจิตเวช โดย 4 โรคหลักมีดังนี้
1. ปัญหาสติปัญญาบกพร่อง เป็นกลุ่มเด็กที่มีสติปัญญาต่ำกว่า 70 มักจะรู้ก่อน 6 ขวบ พบได้ประมาณ 1%
2. ออทิสติก พบได้ประมาณ 1-2 คนใน 1,000 คน
3. สมาธิสั้น พบได้ประมาณ 5-10%
และ 4. ความบกพร่องในการเรียนรู้ หรือ แอลดี พบได้ประมาณ 5-10% เช่นกัน
     เด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้นกว่าครึ่ง มักพบร่วมกับแอลดี ดังนั้นจะเห็น 4 โรคนี้แทรกอยู่ในเด็กมากมายในวัยเรียน อายุ 6- 12 ปี
     สำหรับเด็กที่สติปัญญาบกพร่อง และเด็กออทิสติก เป็นโรคที่ปรากฏให้เห็นได้เร็ว ดูออกเร็วตั้งแต่อายุน้อย และได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่ต้นทาง แต่ก็ยังมีบางส่วนหลุดรอดการคัดกรองมาได้ เพราะเด็กบางคนอาการไม่เห็นชัด ถ้าอยู่ในระบบการศึกษา ครูไม่เข้าใจเด็กจะถูกดูแลอย่างไม่เหมาะสม
     แต่ 2 โรคหลังจะเห็นชัดในวัยเรียน คือ เด็กสมาธิสั้นกับแอลดี บางที 3-4 ขวบยังดูไม่ออก ยังวินิจฉัยไม่ได้ แม้แต่หมอก็ยังต้องเฝ้าระวังว่าใช่หรือไม่ใช่ ดังนั้นพ่อแม่ยิ่งไม่รู้ เด็กก็เข้าสู่ระบบการเรียนเหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่พอไปเรียนหนังสือ ตัวโรคทำให้เด็กแปลกแยกจากเด็กอื่น ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กดื้อ เด็กซน เด็กไม่สนใจเรียน ไม่ได้เรื่อง
    กลุ่มที่เราให้ความสำคัญในเด็กวัยเรียน คือ เด็กสมาธิสั้นและแอลดี แต่ก็ช่วยกรองอีก 2 โรคคือ เด็กสติปัญญาบกพร่องและออทิสติกที่หลุดรอดมา ดังนั้นจึงดูทั้ง 4 โรค วิธีการคือ ให้ความรู้คุณครูในการคัดกรองว่าโรคเหล่านี้มีอาการอย่าง ไร ซึ่งพบว่าเด็กกลุ่มนี้จะอยู่ใน 10% หลังห้องเรียน ถ้าเอาคะแนนสอบมาเรียงกัน เด็กที่คะแนนสอบอยู่ใน 10% มีความเสี่ยงมาก แต่ผลการเรียนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จึงได้ให้ความรู้กับคุณครูว่าเด็กจะมีอาการอย่างไรและมีแบบคัดกรอง 4 โรคนี้ให้
    อาการเด็กสมาธิสั้น คือ สมาธิไม่ดี จดจ่ออยู่กับอะไรไม่ได้นาน อยู่ไม่นิ่ง ซุกซนมาก หุนหันพลันแล่น รอคอยไม่เป็น ต่อคิวไม่ได้ ชอบแซงคิวคนอื่น ไม่อยู่ในวินัย ทำให้ครูรู้สึกว่าเกเร ไม่ตั้งใจเรียน ดื้อ
    ส่วน อาการเด็กแอลดี โดยหลักการเด็กกลุ่มนี้สติปัญญา ไอคิวปกติ แต่ความสามารถในการอ่านคำ เขียนสะกดคำ และการคำนวณอย่างใดอย่างหนึ่งหรือ 2-3 อย่างต่ำกว่าอายุสมองไป 2 ชั้นปี สมมุติว่าเด็กเรียนอยู่ชั้น ป.3 ปรับตัวเข้ากับเด็ก ป. 3 ได้ดี ยกเว้นพอให้อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ได้แค่เด็ก ป.1 ความสามารถในการคำนวณบกพร่อง ตรงนี้เกิดจากวุฒิภาวะสมองไม่ลงตัว แต่หลายคนที่ผ่านช่วงตรงนี้ไปได้ อาจจะกลายเป็นอัจฉริยะได้ เพราะไม่ได้มีปัญหาไอคิว
    เด็กเหล่านี้ทางกระทรวงศึกษา ธิการไม่ได้นิ่งนอน ใจ ส่งเสริมให้คุณครูคัดกรองเด็กมาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขก็ต้อง การสนับสนุนให้ระบบของคุณครูเข้มแข็งยิ่งขึ้น แต่การทั่วถึงของแบบคัดกรองยังมีจุดอ่อนพอสมควร
   อย่างไรก็ตามพบว่าการช่วยเหลือแบบเกื้อหนุน คือ ครู หมอ พ่อแม่ ช่วยกัน จะช่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตเด็กได้มาก ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมสุขภาพจิต จึงมีนโยบายว่า โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต้องเข้าไปเป็นคู่เครือข่ายช่วยเหลือโรงเรียน โดยภายในปี 2559 จะทำให้ได้ 100% โรงพยาบาลทุกแห่งต้องมีโรงเรียนคู่เครือข่ายเพื่อช่วยเหลือเด็กคัดกรองและช่วยเหลือเด็ก 4 กลุ่มนี้.


นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน


  View : 11.53K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 18.227.190.93